พะเยา - ตามส่องพร้อมพิสูจน์.. “น้ำปู๋” เมนูสุดเริ่ดพื้นถิ่นเมืองเหนือล้านนา ห้วงปลายฝนต้นหนาวสิงหาคม-ตุลาคม หลังปลูกข้าวเสร็จ ชาวบ้านแทบทุกหมู่บ้าน/ตำบลจับปูนาคั้นเคี่ยวทำน้ำปู๋ ขายกิโลฯ ละ 500 ถนอมอาหาร/ปั้นข้าวเหนียวอั่วน้ำปู๋ เป็นเมนูเด็ดได้ทั้งปี
สำหรับคนพื้นที่เมืองเหนือล้านนาแล้ว..“ข้าวอั่วน้ำปู๋” ถือเป็นอีกหนึ่งเมนูชั้นเลิศที่ลูกเด็กเล็กแดง ตลอดจนผู้เฒ่าผู้แก่ กินกันมาตั้งแต่โบราณจวบจนปัจจุบัน โดยเฉพาะ “น้ำปู๋นา หรือน้ำปูนา” ที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ กินกับข้าวเหนียวอุ่นๆ ร้อนๆ หรือกินกับผลไม้รสเปรี้ยวอย่างมะขาม ยิ่งได้รส
ทั้งนี้ คนท้องถิ่นล้านนาแทบทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ จะพากันทำน้ำปูไว้กินและขาย เช่นเดียวกับชาวบ้านในชุมชนตำบลท่าจำปี อ.เมือง จ.พะเยา หลังปลูกข้าวดำนาเสร็จ ห้วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ทุกปีก็จะพากันออกหาปูมาทำน้ำปู๋ ซึ่งถือเป็นวิธีถนอมอาหารพื้นถิ่นที่สามารถเก็บไว้กินตลอดทั้งปี
น.ส.รุ่งทิวา เมืองน้อย อายุ 32 ปี ชาวตำบลท่าจำปี อ.เมืองพะเยา กล่าวว่า การทำน้ำปู๋ มักจะทำในช่วงหลังจากปลูกข้าวเสร็จ ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคมของทุกปี ซึ่งช่วงนี้ปูนาโตเต็มวัย และจะมีความมันในตัวปู ชาวบ้านก็จะออกไปจับปูนามาตำมาเคี่ยวทำน้ำปู๋ เก็บไว้กินและขาย ซึ่งจะได้ราคาสูงถึงกิโลฯ ละไม่ต่ำกว่า 500 บาท หรือกระปุกละ 50-200 บาท
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเปิบเมนูเด็ดข้าวอั่วน้ำปู ก็สามารถนำข้าวเหนียวมาปั้นทำเป็นร่องตรงกลางแล้วนำน้ำปู๋ตามร่องปั้นข้าวเหนียวแล้วพับรับประทาน ซึ่งรสชาติจะมีความหอมของปู เผ็ดเล็กน้อย และหอมตะไคร้ ใบมะกรูด ซึ่งรสชาติของน้ำปู๋แต่ละท้องที่จะมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
นางนงเยาว์ เมืองน้อย อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 151 หมู่ 4 ต.ท่าจำปี อ.เมืองพะเยา กล่าวว่า การทำน้ำปูจะทำในช่วงหลังจากปลูกข้าวเสร็จ ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ชาวบ้านก็จะออกไปจับปูนามาทำน้ำปู เมื่อได้ปูนามาแล้วก็จะนำเอามาแช่น้ำขังไว้ 1 คืน เพื่อให้สิ่งสกปรก ดินโคลนหลุดออกจากตัวปู
จากนั้นก็จะนำปูมาล้างให้สะอาด เตรียมใบฝรั่ง, ใบมะกอก, ตะไคร้, ใบย่านาง นำมาผสมตอนบดปู แล้วนำมาคั้นเอาน้ำปูเก็บไว้อีก 1 คืน ก่อนนำไปเคี่ยวในหม้อใช้เวลา 7-10 ชั่วโมง จนน้ำปูแห้งจับกันเป็นก้อนสีดำ พักไว้ให้เย็นนำไปบรรจุในภาชนะ
ซึ่งน้ำปู๋ หรือน้ำปู เป็นอาหารที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้านในภาคเหนือ สามารถนำไปผสมปรุงอาหารได้หลากหลาย และเป็นการถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้กินตลอดทั้งปี นอกจากที่ชาวบ้านจะทำไว้กินเองแล้ว ยังนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอีกด้วย ซึ่งขณะนี้ขายกันที่กิโลกรัมละ 500 บาท