เชียงใหม่ - แม่ทัพภาคที่ 3 นั่งประธานประชุมทุกภาคส่วนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ สรุปผลงานของศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ประจำปี 2566 พร้อมเตรียมการขับเคลื่อนการทำงานในปีถัดไป เน้นย้ำการสร้างความชื้น บริหารจัดการเชื้อเพลิง และควบคุมการเผา เพื่อให้ลดผลกระทบและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
วันนี้ (4 ก.ย. 66) ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา พลโท สุริยะ เอี่ยมสุโร แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานการประชุมสรุปผลงานของศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ภาค 3 ประจำปี 2566 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในปี 2567 โดยมีรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมประชุมรับฟัง ทั้งนี้พบว่าในห้วงเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม 2566 มีจุดความร้อนเกิดขึ้นในภาคเหนือตอนบน รวม 77,833 จุด ส่วนพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างอีก 31,001 จุด จึงทำให้จุดความร้อนสะสมปี 2566 เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับห้วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 3 ได้เน้นย้ำเพื่อการปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากการสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในการร่วมมือแก้ไขปัญหาแล้ว หน่วยงานภาครัฐควรบูรณาการเพื่อวางแนวทางการปฏิบัติ 3 ด้านหลัก คือ สร้างความชื้นให้แก่พื้นที่ป่า, การควบคุมการเผาอย่างเป็นระบบ และการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์ สร้างรายได้แก่ประชาชน
นอกจากนี้ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมรวมพลังสังคมไทย แก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน อย่างยั่งยืน ภายใต้ชื่อ “ตื่น ฟื้น คืน ชีวิตสัมพันธ์” โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้แทนภาคประชาชน เข้าร่วมรับฟังเสวนา แลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตหมอกควัน ไฟป่า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และคุณภาพ ชีวิตของประชาชน ซึ่งในงานยังมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการวัชพืชทางการเกษตร จากชุมชนต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการเศษวัชพืช มาร่วมแสดง เช่น การนำเศษวัชพืช ทั้งซังข้าวโพด กิ่งไม้ ใบไม้ ทั้งจากต้นลำไย ต้นมะม่วง มาเปลี่ยนเป็นพลังงานชีวมวล หรือนำอัดก้อนจำหน่ายเพื่อการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนอกจากเป็นการช่วยลดการเผาทำลายเศษวัชพืชแล้ว ยังเป็นการสร้างมูลค่าเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้กลายเป็นเม็ดเงินกลับคืนสู่เกษตรกร เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนำความรู้ไปปฏิบัติ และขยายผลให้เกิดเป็นรูปธรรม ตลอดจนเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ต่อไป