xs
xsm
sm
md
lg

“บุญเกิดฟาร์ม” บทพิสูจน์คอนแทรกต์ฟาร์มเลี้ยงหมูพลิกชีวิต ซีพีเอฟส่งเสริมเกษตรยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บุญเกิดฟาร์ม” บทพิสูจน์คอนแทรกต์ฟาร์มเลี้ยงหมูพลิกชีวิต ซีพีเอฟส่งเสริมเกษตรยั่งยืน

ชีวิตของคนหาเช้ากินค่ำอย่าง ‘ไพรัตน์ อยู่อภิบาลรักษ์’ กับ ‘บัณพร บุญเกิด’ ที่ยึดอาชีพรับจ้างขับรถขนส่งไข่ไก่ในจังหวัดนครราชสีมา เงินเดือนรวมกันเพียง 30,000 บาท สำหรับเลี้ยงลูกอีก 2 และใช้ให้เพียงพอกับทั้ง 4 ชีวิตในครอบครัว แม้จะยากลำบากแต่ทั้งสองไม่เคยท้อแท้ สู้ทนบากบั่นเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ยังโชคดีที่มีคนคอยหยิบยื่นโอกาสให้ เมื่อทีมงานของเครือซีพีเห็นถึงความขยันของพวกเขา จึงให้โควตารับส่งไข่ไก่เพิ่มขึ้น ไพรัตน์กับบัณพรไม่ลังเลที่จะรับไว้ ตัดสินใจดาวน์รถขนส่งเป็นของตัวเอง เพื่อรับงานขนส่งไข่ไก่ตรงกับบริษัท

“ตอนนั้นทางทีมงานฝ่ายขายของซีพีเห็นเรากระเตงลูกชายตัวเล็กๆ มาขนไข่ไก่ ทำงานหนักเอาเบาสู้ จึงช่วยสนับสนุนให้ได้โควตารับไข่ไก่กับบริษัท ตอนนั้นรับงานเยอะขึ้น เริ่มมีรายได้ดีขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยการต้องตะลอนไปบนท้องถนน วันหนึ่งกลายเป็นจุดพลิกผันเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ ลูกชายเจ็บหนักเกือบไม่รอด เราสองคนจึงกลับมาคิดว่าต้องทำอย่างอื่นที่ดีกว่าการรับจ้างหากินบนท้องถนน จึงเปลี่ยนมาเป็นตัวแทนขายไข่ของซีพีแทน ขายไข่อยู่ปีกว่าๆ จึงย้ายจากโคราชกลับมาอยู่บ้านแฟนที่ อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี ยึดอาชีพขายไข่และยังรับงานขนส่งอาหารหมู ส่งไข่ให้บริษัทอยู่ จนกระทั่งผู้จัดการโครงการส่งเสริมเลี้ยงหมูมาชวนเลี้ยงหมูเพราะซีพีเอฟกำลังจะขยายการเลี้ยงในโซนลพบุรี จึงตัดสินใจเลี้ยงหมูขุนมาตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา” บัณพรเล่า


แม้ว่าช่วงแรกการเลี้ยงหมูของ “บุญเกิดฟาร์ม” จะขลุกขลักไปบ้างเนื่องจากไม่เคยทำอาชีพนี้มาก่อน แต่ด้วยความมานะพยายาม และได้ทีมงานของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ คอยแนะนำและสู้มาด้วยกันตลอด ทำให้การเลี้ยงหมูพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จากวันแรกมีโรงเรือนหลังเดียว เลี้ยงหมู 650 ตัว ทั้งคู่ตัดสินใจขอเพิ่มการเลี้ยงมากขึ้นเพื่อขยายกำลังผลิตมากขึ้น โดยเลือกนำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุน โดยเฉพาะระบบไบโอแก๊ส เพราะเวลานั้นค่าไฟฟ้าค่อนข้างสูง ไบโอแก๊สนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงได้แล้ว ยังทำให้ฟาร์มอยู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ภายในระยะเวลา 10 ปี “บุญเกิดฟาร์ม” ขยายการเลี้ยงเพิ่มเป็น 12 โรงเรือน เลี้ยงหมูขุนรวม 10,000 ตัว

“เราคิดตลอดว่าต้องพัฒนาอาชีพเลี้ยงหมูให้ดีขึ้น ที่ผ่านมาทีมงานซีพีเอฟแนะนำสิ่งไหนเราทำหมด เพราะบริษัทคิดค้นมาดีแล้ว เราเปิดรับและลงมือทำอย่างจริงจัง ตอนนี้ฟาร์มทั้งสองโซนที่ลพบุรีและนครสวรรค์ต่างใช้ระบบเดียวกัน ใช้ไบโอแก๊ส ใช้ระบบอัตโนมัติในการควบคุมการปรับอากาศในโรงเรือน ใช้ไซโลอาหารอัตโนมัติ ติดกล้อง CCTV ภายในโรงเรือนและจุดสำคัญรอบฟาร์ม และวางแผนนำระบบสมาร์ทฟาร์มมาใช้อย่างจริงจัง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และสามารถแก้ปัญหาทันท่วงที นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจให้การเลี้ยงหมูของเรามีการพัฒนาต่อเนื่อง จะได้หมูที่มีคุณภาพที่สุดเพื่อผู้บริโภค” ไพรัตน์กล่าว

นอกจากนี้ทั้งคู่ยังต่อยอด “เปลี่ยนขี้หมูเป็นทอง” โดยไพรัตน์ใช้ทักษะด้านงานช่าง คิดค้นสร้างเครื่องอัดเม็ด เพื่อนำกากขี้หมูที่ผ่านการบำบัดในระบบไบโอแก๊สแล้วมาอัดเม็ด กลายเป็น ‘ปุ๋ยขี้หมูอัดเม็ด’ อีกกิจการในครัวเรือนที่สร้างรายได้เสริมอีกประมาณ 4-5 หมื่นบาทต่อเดือน ขณะเดียวกัน น้ำหลังจากการบำบัด หรือที่เรียกว่า “น้ำปุ๋ย” ที่มีแร่ธาตุที่พืชต้องการสูง ยังถูกแบ่งปันให้เกษตรกรรอบข้างที่ติดต่อผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขอรับน้ำปุ๋ยใช้บำรุงต้นพืช ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และช่วยให้เกษตรกรโดยรอบผ่านพ้นวิกฤตแล้งมาตลอด โดยทางฟาร์มสนับสนุนการต่อท่อ ติดเครื่องปั๊มน้ำ และซื้อน้ำมันเติมเครื่องให้ทั้งหมด


บัณพรบอกอีกว่า ความสำเร็จของบุญเกิดฟาร์มในวันนี้ คือบทพิสูจน์ว่าคอนแทรกต์ฟาร์มเลี้ยงหมูกับซีพีเอฟ เป็นอาชีพที่มั่นคง ตอกย้ำสิ่งที่ซีพีเอฟทำมาตลอด คือ “การส่งเสริมเกษตรยั่งยืน” ให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้ที่ดี ลดความเสี่ยงเรื่องตลาดและราคาผลผลิตที่ผันผวน ด้วยการบริหารจัดการและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต บนพื้นฐานของมาตรฐานการผลิตเดียวกันกับบริษัท เพื่อยกระดับภาคเกษตรของไทยให้แข็งแกร่งด้วยเทคโนโลยี

“คอนแทรกต์ฟาร์มตอบโจทย์ชีวิตเรามากๆ จากคนที่แทบไม่มีเลย อดๆ อยากๆ เคยมีเงินติดตัวทั้งบ้านแค่ 30 บาท ต้องให้ลูกกินก่อน พ่อแม่ยอมอด 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรามันเหนือความคาดหมาย ชีวิตดีขึ้นมาก ลูกๆ ได้เรียนหนังสือ ทุกคนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ขอบคุณซีพีเอฟ ขอบคุณทีมงานทุกคนตั้งแต่สมัยก่อนที่ให้โอกาส ขอบคุณผู้จัดการและทีมสัตวบาลที่มาคอยดูแลสนับสนุนแนะนำ ถ้าไม่มีเขาและไม่มีโอกาสที่ได้รับ ก็คงไม่มีเราในวันนี้ และขอบคุณตัวเองที่ตัดสินใจคว้าทุกโอกาสไว้อย่างไม่ลังเล และมุ่งมั่นทำมาตลอด ตั้งใจทำให้ดีที่สุด แนะนำอะไรดีๆ เราเปิดรับหมด พยายามทำให้ดีที่สุด จนตอนนี้เรามีพื้นฐานที่มั่นคง เป็นรากฐานให้ลูกทั้ง 2 คน ที่ได้มารับช่วงต่อจากพ่อแม่แล้ว” บัณพรกล่าวอย่างภูมิใจ




“บุญเกิดฟาร์ม” คืออีกหนึ่งภาพสะท้อน ความมุ่งมั่นของซีพีเอฟ ในการผลักดันให้โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย หรือคอนแทรกต์ฟาร์ม กลายเป็นอาชีพที่ช่วยสร้างความมั่นคงแก่พี่น้องเกษตรกรไทย โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยยกระดับการเลี้ยง เพื่อจุดหมายปลายทางคือการผลิตหมูคุณภาพเพื่อผู้บริโภคอย่างยั่งยืน






กำลังโหลดความคิดเห็น