การทำงานของ DSI ในคดีหมูเถื่อนนับว่ามีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่อง จนค่อนข้างมั่นใจว่าคดีนี้จะสาวไปได้ถึงต้นตอ ซึ่งไม่เพียงข้อหาของการนำเข้า เคลื่อนย้ายซากสุกรโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แต่หมูเถื่อนยังพัวพันถึงการฟอกเงิน หลัง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าร่วมทำคดีด้วย ... เชื่องานนี้มี “นายทุน” หนุนหลัง และอาจกำลังเครียดจัดเพราะโทษ “ยึดทรัพย์” จ่อรออยู่ข้างหน้า
นายสมคิด เรืองณรงค์ ได้กล่าวถึง 19 สายการเดินเรือที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งหมูเถื่อนในคดี 161 ตู้นี้ล้วนให้ข้อมูลและความร่วมมือที่ดีมาก เพราะทุกคนแบกภาระค่าใช้จ่ายมหาศาล ลำพังขนเข้ามา 1 ตู้มีค่าสินค้าราวๆ 2 ล้านบาท พอถูกจับกุมและอายัดของกลาง มีค่าใช้จ่ายตามมาอีก 1.7 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยค่าเสียโอกาสในการนำตู้กลับมาใช้ ค่าพื้นที่วางตู้ ค่าไฟฟ้าสำหรับแช่เย็นหมู และค่าฝังทำลาย ยิ่งระยะเวลาตั้งแต่ถูกจับได้มาจนถึงวันนี้ก็หลายเดือน ค่าใช้จ่ายยิ่งทวีคูณ เบ็ดเสร็จคร่าวๆ ต้องใช้จ่ายขั้นต่ำราว 3.7 ล้านบาท/ตู้ สายเดินเรือรายไหนขนหมูเถื่อนเข้ามาหลายตู้ก็ต้องรับภาระหนัก แต่อาจจะไม่หนักเท่า “ผู้นำเข้า” ที่มีชิปปิ้งสมรู้ร่วมคิดลักลอบนำเข้าของผิดกฎหมาย ซึ่งมีแววว่าจะเจอโทษหนักถึงขั้นยึดทรัพย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำเข้าหมูบางรายที่ร่ำรวยร้อยล้านภายในระยะเวลาเพียงปีเดียว ยิ่งน่าสงสัยและมีแนวโน้มเข้าข่ายฟอกเงิน ผลพวงจากการใช้เงินผิดกฎหมายนี้ไปต่อยอดทำธุรกิจอื่นใดจะถูกยึดกลับเข้าเป็นสมบัติของแผ่นดินทั้งหมด เรียกว่ารวยเร็วทันใจ แต่จนลงทันที กรรมยุคนี้ติดจรวดของจริง ส่วน “นายทุน” ที่อยู่เบื้องหลังต้องเตรียมตัวให้ดี เพราะไม่มีใครยอมรับกรรมคนเดียวเป็นแน่
ขณะที่การสืบสวนสอบสวน 11 บริษัทชิปปิ้งกำลังเข้มข้น ... DSI ออกตรวจทั้งใน กรุงเทพมหานคร ลพบุรี และนครปฐม พบว่าบ้างก็เป็นบริษัทขนาดเล็ก บ้างก็ปิดเลิกกิจการไปแล้ว และบางบริษัทดูไม่ได้กระทำผิดจริง ทั้งยังยังพบอีก 2 บริษัทที่เป็นนอมินีของกลุ่ม 11 บริษัทแรกด้วย เรียกว่าตั้งใจทำการทุจริตตั้งแต่ต้น ตอกย้ำว่างานนี้มีผู้บงการ หรือนายทุนอยู่เบื้องหลังแน่นอน
คดีทุจริตระดับชาติ มูลค่ามหาศาลแบบนี้ เป็นไปไม่ได้ที่ “เจ้าหน้าที่รัฐ” จะไม่เกี่ยวข้อง จากที่แว่วๆ ว่า DSI พบเจ้าหน้าที่รัฐมีเอี่ยว ล่าสุด นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ดูจะไม่ทน ... นำเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหอบหลักฐานเข้าพบเจ้าหน้าที่ ปปป. หรือกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีอาญาต่ออธิบดีกรมศุลกากร และนายด่านท่าเรือแหลมฉบังกับพวก ที่ร่วมกันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสำแดงเท็จปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมาทำลายตลาดหมูของเกษตรกรไทย งานนี้ทำให้คดีหมูเถื่อน 161 ตู้ทวีความเข้มข้นขึ้นไปอีกระดับ
อีกฟาก กรมการค้าภายในก็ร่วมด้วยช่วยกัน ในการลงพื้นที่ตรวจสอบห้องเย็น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้เลี้ยงว่าจะไม่มีหมูเถื่อนเข้ามาปะปนตามห้องเย็นต่างๆ นับเป็นอีกพลังในการกดดันขบวนการหมูเถื่อน แม้การตรวจล่าสุดจะไม่พบความผิดปกติใดๆ ก็ตาม
“ธรรมะย่อมชนะอธรรม” เมื่อทุกฝ่ายทำงานเข้มแข็ง คนละไม้คนละมือ มีหรือจะจับตัวการใหญ่ ผู้สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร ผู้บริโภค และประเทศชาติไม่ได้
... ถึงบรรทัดนี้ ขอเอาใจช่วยให้การดำเนินคดีนี้ประสบความสำเร็จ และลงโทษตัวการใหญ่ให้สาสมกับความร้ายกาจที่ทำลายอาชีพ ทำร้ายชีวิตคนไทย มานานกว่าขวบปี