xs
xsm
sm
md
lg

อดีต ผอ.สวพ.6 วอนอย่าโทษเจ้าหน้าที่-ล้ง หลังพบหนอนในทุเรียนจากยะลาส่งขายจีนจนถูกตีกลับ ชี้อยู่ในผลอ่อนตรวจยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี ​- อดีต ผอ.สวพ.6 วอนอย่าโทษเจ้าหน้าที่-ล้ง หลังพบหนอนในทุเรียนจากยะลา ส่งขายจีนจนถูกตีกลับ ยันกรณีที่เกิดขึ้นไม่สามารถตรวจสอบได้เนื่องจากเป็นสิ่งที่อยู่ในผลอ่อน เผยเมื่อ 30 ปีก่อน ภาคตะวันออกเคยเจอปัญหาเดียวกันแต่แก้ไขจนสำเร็จ

วันนี้ (24 ส.ค.)​ นายชลธี นุ่มหนู อดีตผู้​อำนวยการ​สำนักวิ​จัยและ​พัฒนา​การเกษตร​ เขต 6 อดีตมือปราบทุเรียนอ่อน ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีการพบหนอนในทุเรียนที่ส่งไปขายในประเทศจีนจนถูกทางการจีนตีกลับไทยจำนวนหลายสิบตู้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์​ทุเรียนใต้ว่าในเบื้องต้นยังไม่อยากให้สังคมโทษการปฏิบัติ​งานของเจ้าหน้าที่รัฐ และล้งส่งออก 

เนื่องจากไม่มีใครทราบได้ว่าผลทุเรียนลูกใดมีหนอนเจาะอยู่ด้านใน เพราะหนอนได้เจาะเปลือกเข้าไปตั้งแต่เริ่มติดผลอ่อนและฝังตัวอยู่ภายในจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว และเมื่อผลทุเรียนถูกส่งไปขายประเทศปลายทางก็เป็นช่วงเวลาที่หนอนเติบโตพอดี

"เมื่อถามว่าต้นเหตุของการพบหนอนเจาะทุเรียนอ่อนที่ถูกส่งไปขายต่างประเทศมาจากสาเหตุใด คงต้องตอบว่ามาจากการตัดทุเรียนอ่อน-ตึงมากกว่าทุกปี ทำให้เมื่อผ่านกระบวนการคัดบรรจุที่ล้ง หนอนจะยังไม่ออกจากผลเพราะเนื้อในผลทุเรียนยังอ่อน" 


นายชลธี ยังเผยอีกว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเคยพบเหตุการณ์​ในลักษณะ​ดังกล่าวเช่นกันเมื่อปี 2535 ซึ่งในครั้งนั้นศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ได้ร่วมกับกองกีฎและสัตววิทยา กรมส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันออก ศึกษาวิจัยวงจรชีวิตและการระบาดของหนอนจนสามารถออกเป็นคำแนะนำให้เกษตรกร 

ด้วยการให้ติดกับดักแสงไฟเพื่อล่อจับแม่ผีเสื้อตัวเต็มวัยลดการวางไข่ ซึ่งถือเป็นตัวพยากรณ์การระบาดในสวนว่าต้องฉีดพ่นยาที่ผลทุเรียนเมื่อใดได้เป็นอย่างดี และเกษตรกร​ยังจะต้องฉีดพ่นสารเคมีป้องกันเมื่อผลทุเรียนมีอายุได้ประมาณ 3-5 สัปดาห์หลังดอกบานเป็นต้น รวมทั้งยังมีการตั้งกองทุนรับซื้อตัวหนอนและผีเสื้อตัวละ 5 บาท เพื่อตัดวงจรการระบาดอีกด้วย

"สำหรับหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่พบในพื้นที่ จ.ยะลา เป็นหนอนประจำถิ่นที่มาจากมาเลเซีย อีกทั้งต้นทุเรียนใน จ.ยะลา เป็นทุเรียนพันธ์ุพื้นบ้านที่มีลำต้นสูง จึงทำให้การดูแลรักษาทำได้ยาก" นายชลธี กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น