xs
xsm
sm
md
lg

สุดเจ๋ง! หนุ่มสันกำแพงยึดอาชีพเสริมเพาะขยายพันธุ์ "กว่างชน" ขายได้ทั้งตัวและน้ำเชื้อสร้างรายได้งาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - หนุ่มเทศบาลสันกำแพงสุดเจ๋งเพาะขยายพันธุ์ “ด้วงกว่าง” ออกขายสร้างรายได้เสริม ลูกค้าเพียบทั้งกลุ่มนักสะสมแมลงและนำไปประกวดแข่งขัน โดยมีราคาตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันตามความโดดเด่นและคุณลักษณะพิเศษ ขณะเดียวกันยังสามารถขายน้ำเชื้อด้วยการรับผสมพันธุ์ได้อีก เผยจุดเริ่มจากความชอบส่วนตัว ใช้เวลาว่างหลังเลิกงานศึกษาค้นคว้าจนประสบความสำเร็จและยึดเป็นอาชีพเสริมต่อเนื่องมาเกือบสิบปีแล้ว


ช่วงเข้าพรรษาของทุกปีถือได้ว่าเป็นฤดูที่ “ด้วงกว่าง” ตามธรรมชาติโตเต็มวัยแล้ว พร้อมทั้งเริ่มออกหากินและขยายพันธุ์ตามวงจรชีวิต โดยด้วงกว่างนั้นเป็นแมลงปีกแข็งสีน้ำตาลเข้ม ขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ ซึ่งตัวผู้จะมีลักษณะพิเศษตรงที่มีเขาจำนวน 1 คู่ไว้ใช้ต่อสู้ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ผู้คนตั้งแต่อดีตนิยมจับแมลงชนิดนี้ที่ออกหากินตามท้องไร่ท้องนาพื้นที่เกษตรมาเลี้ยงและนำไปใช้ต่อสู้แข่งขันกันหรือที่เรียกว่า “ชนกว่าง” เพื่อความสนุกเพลิดเพลิน ซึ่งถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านดั้งเดิมอย่างหนึ่งที่มีมาช้านานและเป็นที่นิยมในภาคเหนือ ดังนั้นในช่วงนี้จึงเป็นปกติที่จะพบเห็นได้ทั่วไปว่ามีผู้ที่นำด้วงกว่างออกวางขาย ทั้งในลักษณะที่เกาะกินท่อนอ้อยแล้วแขวนไว้หรือบรรจุในภาชนะพลาสติก โดยที่บางแห่งอาจจะมีการจัดคล้ายกิจกรรมรวมกลุ่มพบปะและสังเวียนเล็กๆ ให้ประลองฝีมือกันด้วย

ทั้งนี้ จากการที่ด้วงกว่างตามธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลงและหาจับได้ยากขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงด้วงกว่างในลักษณะของฟาร์มอย่างแพร่หลาย โดยนายณัฐพล จันทรรัตน์ อายุ 47 ปี พนักงานเทศบาลแห่งหนึ่งในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ หรือที่ในวงการ “ด้วงกว่าง” รู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อ “ป๋านิน” ที่ถือเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่บุกเบิกการเพาะเลี้ยงด้วงกว่างมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งนายณัฐพล เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นการเพาะเลี้ยง “ด้วงกว่าง” นั้นมาจากความชื่นชอบแมลงชนิดนี้เป็นการส่วนตัว เพราะเคยเล่นชนกว่างมาตั้งแต่เป็นเด็ก จึงใช้พื้นที่ว่างในบริเวณบ้านสร้างโรงเรือนขนาดเล็กและใช้เวลาว่างหลังเลิกงานทำการศึกษาค้นคว้าจนกระทั่งประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ด้วงกว่างได้ตั้งแต่ปี 2559 เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้


ส่วนวิธีการเพาะขยายพันธุ์นั้น จะเริ่มจากการคัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่คิดว่าดีที่สุดนำมาผสมพันธุ์กัน จากนั้นปล่อยให้วางไข่ในวัสดุที่ทำจากขี้เลื่อยและเศษวัสดุธรรมชาติที่ผ่านกรรมวิธีหมักบ่มจนมีคุณสมบัติและลักษณะเหมือนที่วางไข่ตามธรรมชาติ ซึ่งแม่พันธุ์หนึ่งตัวจะวางไข่ประมาณ 100-200 ฟอง แล้วปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งไข่มีการเจริญเติบโตเป็นหนอนประมาณ 3 เดือน จึงจะทำการแยกเพศและเลี้ยงไว้ให้โตเต็มวัยแล้วทำการคัดเลือกตัวผู้และตัวเมียที่มีลักษณะดีตามมาตรฐานนิยมไว้เป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ รวมทั้งขายหรือนำไปประกวดแข่งขัน ส่วนที่เหลือจะปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนในธรรมชาติ ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่ผสมพันธุ์จนกระทั่งด้วงกว่างโตเต็มวัยนั้น นานประมาณ 8 เดือน โดยปีนี้ตัวเองเพาะขยายพันธุ์ด้วงกว่างได้ทั้งสิ้นประมาณ 5,000 ตัว และกำลังทยอยโตเต็มวัย พร้อมส่งขายและประกวดแข่งขันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว

สำหรับด้วงกว่างที่โตเต็มวัยพร้อมขายนั้น นายณัฐพลบอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่นิยมเลือกซื้อตัวผู้ ทั้งเพื่อนำไปสะสมหรือเลี้ยงไว้ดูเล่น, ประกวดแข่งขันและนำไปเป็นพ่อพันธุ์เพาะขยายพันธุ์ ซึ่งราคาขายเริ่มต้นตั้งแต่หลักร้อยบาทไปจนถึงหลักพันบาท ขึ้นอยู่กับลักษณะสี รูปร่าง ขนาดตัว และขนาดเขาของด้วงกว่างแต่ละตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นตัวที่สืบสายพันธุ์มาจากด้วงกว่างตัวที่เคยชนะการประกวดแข่งขันจะยิ่งได้ราคาสูง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้เคยขายได้ราคาสูงสุดตัวละ 3,500 บาท ขณะที่ด้วงกว่างตัวเมียนั้น ลูกค้ามักซื้อนำไปเป็นแม่พันธุ์ โดยเลือกจากตัวที่สืบเชื้อสายจากพ่อแม่ที่เป็นสายพันธุ์ดี ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 500 บาท นอกจากนี้ที่ฟาร์มของตัวเองยังให้บริการพ่อพันธุ์ด้วงกว่างระดับแชมป์ในการผสมพันธุ์ให้กับตัวเมียของลูกค้าด้วย คิดค่าบริการครั้งละ 1,000-1,500 บาท ซึ่งได้รับความนิยมจากลูกค้ามากพอสมควร


ขณะเดียวกัน นายณัฐพล บอกว่า การเพาะขยายพันธุ์ด้วงกว่างได้เองนั้นถือว่ามีข้อดีเพราะทำให้ได้ด้วงกว่างที่มีลักษณะดีและสวยงามอย่างที่ต้องการ เพราะสามารถคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้ ซึ่งนอกจากด้วงกว่างสายพันธุ์ไทยแล้ว ตัวเองยังเพาะขยายพันธุ์ด้วงกว่างสายพันธุ์ต่างประเทศอีกหลายชนิดเพื่อส่งขายให้นักสะสมและผู้นิยมด้วย โดยการเลือกและตกลงซื้อขายกันนั้น มีทั้งลูกค้าที่เดินทางมาเลือกด้วยตัวเองและติดต่อกันผ่านช่องทางออนไลน์แล้วจัดส่งให้ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจจะสั่งซื้อด้วงกว่างนั้นสามารถติดต่อสอบถามได้ทางเฟซบุ๊ก “ณัฐพล จันทรรัตน์” หรือหากผู้ใดมีความสนใจอยากจะเพาะขยายพันธุ์ด้วงกว่างก็ยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ให้ด้วยเช่นกัน
















กำลังโหลดความคิดเห็น