ลำปาง - “ชาวอำเภอเสริมงาม ลำปาง” รวมตัวชูป้ายคัดค้านนายทุนขอประทานบัตรเปิดเหมืองพลวง หวั่นกระทบแหล่งต้นน้ำชุมชนรุนแรงจนแม่น้ำเปลี่ยนสี-นา 4 ไร่ได้ข้าวแค่ 4 กระบุง ซ้ำรอยอดีต ขณะที่บริษัทต้นเรื่องแจ้งยกเลิกนัดเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้ว
วันนี้ (23 ส.ค. 66) ชาว ต.เสริมขวา ชาวบ้าน ต.เสริมขวา อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ร่วม 300 คน รวมตัวชุมนุมกันที่ศาลาอเนกประสงค์บ้านแม่เลียง หมู่ 7 เพื่อคัดค้านการเปิดเหมืองแร่บ้านแม่เลียง หลังจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง (สอจ.) ได้ส่งหนังสือเชิญชาวบ้านร่วมรับฟังความคิดเห็น เรื่องการยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ในวันนี้ แต่ได้มีการยกเลิกล่วงหน้าเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนถึงเวลานัดในเวลา 08.30 น.
นางเบญจวรรณ ลาดปะละ อายุ 52 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 9 ต.เสริมขวา กล่าวว่า การที่คนในชุมชนออกมาคัดค้านเพราะพื้นที่เป้าหมายทำเหมือง 50 ไร่นั้นอยู่บริเวณต้นน้ำแม่เลียง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ชาว อ.เสริมงาม ใช้ดื่มกิน-ทำไร่ทำสวน การทำเหมืองจะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำและสุขภาพของชาวบ้าน
“สมัยก่อนเคยมีการเข้ามาทำเหมืองแล้วน้ำในแม่น้ำเลียงเปลี่ยนเป็นสีแดง นำมาดื่มไม่ได้ ถ้ามีการเปิดเหมืองแร่อีกก็อาจทำให้เกิดเหตุซ้ำรอยเดิมได้ นอกจากนี้ถ้ามีรถขนแร่ก็จะทำให้ถนนเสียหาย ดังนั้นไม่ว่าใครจะเอาเงินมาให้เท่าไรก็ไม่เอา ไม่เอาอะไรแล้วอยากให้ป่าไม้อยู่ไปแบบนี้”
ชาวบ้านที่มาร่วมคัดค้านการเปิดเหมืองบ้านแม่เลียงอีกรายหนึ่งกล่าวว่า หากปล่อยให้มีการทำเหมืองพลวง ซึ่งจะมีน้ำจากการฉีดดินที่ขุดมาลงแม่น้ำเลียง และจะไหลผ่านชุมชนต่างๆ ลงไปรวมกับแม่น้ำวังด้วย จะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะคนตำบลเสริมขวา 12 หมู่บ้าน และตำบลทุ่งงาม จะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
ทั้งนี้ ชาวบ้านหมู่ที่ 4 ร่วมลงชื่อคัดค้านการเปิดเหมืองในวันนี้แล้ว 137 คน โดยผู้ที่มาร่วมคัดค้านบอกว่าต้องใช้น้ำมาดื่มมาใช้ ทำไร่ทำนา กลัวว่าหากเปิดเหมืองแร่ขึ้นมาแล้วอาจจะเกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านสุขภาพ พืชผลทางการเกษตร พร้อมระบุว่าเมื่อต้นปี 2517 เคยมีคนเข้ามาทำเหมืองแล้วฉีดน้ำเอาแร่ ตรงกับช่วงที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าว 4 ไร่ได้ผลผลิตแค่ 35 กระบุง แต่พอช่วงที่ไม่มีการทำเหมืองเก็บข้าวได้มากกว่า 100 กระสอบ หากเปิดให้บริษัทเข้ามาทำเหมืองก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้น
ด้านนายสมหวัง อุดสร้อย หรือ สหายทัพ อายุ 65 ปี ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ทุกคนในชุมชนต้องร่วมกันคัดค้านการสร้างเหมืองวันนี้ไม่ให้ซ้ำรอยประวัติศาสตร์เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งการต่อสู้ครั้งนั้นทำให้มีชาวบ้านต้องเสียสละชีวิตเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติมาแล้ว
“ในอดีตเรามีวีรชนเป็นแกนนำในหมู่บ้านเป็นตัวอย่างที่ไม่เห็นแก่เงินแค่ 400-500 บาท รวมตัวกันแล้วเกิดกระแสคอมมิวนิสต์ขึ้นมา มี 20 กว่าคนต้องเข้าป่า ซึ่งช่วงนั้นผมอายุ 13 ปี ถ้าวันนี้จะตายเพื่อประชาชนก็ยอมเสียสละ แต่ยืนยันได้ว่าผมไม่ใช่แกนนำคนเดียว แต่ชาวบ้านทุกคนต้องร่วมมือกัน สิ่งที่เขากลัวที่สุดคือความสามัคคี ถ้าคนในชุมชนแตกแยกใครจะกลัว ชาวบ้านต้องร่วมต่อสู้ ไม่เอาก็คือไม่เอา"
จากนั้นชาวบ้านแม่เลียงได้ย้ายจุดชุมนุมจากศาลาอเนกประสงค์ของหมู่บ้านไปบริเวณทางเข้าเหมืองที่บริษัทยื่นขอประทานบัตร พร้อมพาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ป่าเพื่อตรวจดูแหล่งที่เคยถูกขุดหาแร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ และเป็นใจกลางต้นน้ำที่มีการยื่นขอประทานบัตรต่อสำนักงานอุตสาหกรรมไว้