กาญจนบุรี - ประมงเผยปูป่าขนุนคี่ ทองผาภูมิ ที่ค้นพบเป็นชนิดใหม่ สายพันธุ์ Thaiphusa เตรียมประกาศชื่อและจัดทำเอกสารวิชาการเพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารวิชาการ
จากกรณีที่นายจีรพันธ์ ขันแก้ว เกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านขนุนคลี่ ม 4 ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี พบปูน้ำจืดชนิดใหม่ (ปูน้ำจืดThaiphusa) ซึ่งมีสีสันสวยงาม ในพื้นที่บ้านขนุนคลี่ และในสวนยางของตนเอง จนเริ่มศึกษาพฤติกรรมปูชนิดนี้อย่างจริงจัง ก่อนที่จะประสาน นายไพศาล รัตนา ประมงอำเภอทองผาภูมิ มาดูและมีการนำปูที่จับได้ในพื้นที่สวนยางของนายจีรพันธ์ ขันแก้ว จำนวน 4 ตัว ส่งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี ทำการพิสูจน์หาชนิดของปูทั้ง 4 ตัว ในวันที่ 21 มิถุนายน 2566
ต่อมา วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี ได้ทำหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบปูทั้ง 4 ตัวที่ประมงอำเภอส่งไปให้พิสูจน์ชนิดปู จนทราบว่า เป็นปูน้ำจืดสกุล thaiphusa ซึ่งไม่สามารถระบุชนิดได้ โดยปูดังกล่าวเป็นปูน้ำจืดชนิดใหม่ อยู่ในระหว่างการจัดทำเอกสารวิชาการเพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารวิชาการ หากมีการตีพิมพ์และเผยแพร่เอกสารวิชาการดังกล่าวแล้ว กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดจะดำเนินการแจ้งศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรีต่อไป
ล่าสุด วันนี้ (10 ส.ค.) นายไพศาล รัตนา ประมงอำเภอทองผาภูมิ เปิดเผยว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ต้องรอนักวิชาการจากกรมประมง ลงพื้นที่บ้านขนุนคลี่ เพื่อทำการศึกษาและหาข้อมูลของปูดังกล่าว ก่อนจะจัดทำเอกสารวิชาการเพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารวิชาการ พร้อมทั้งการตั้งชื่อปูที่พบใหม่ในครั้งนี้ ซึ่งการค้นพบปูชนิดใหม่ในครั้งนี้จะส่งผลดีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ โดยเฉพาะบ้านขนุนคลี่ พื้นที่ที่พบปูชนิดใหม่นี้ ซึ่งจะเร่งประสานนายชาคริต ตันพิรุฬห์ นายอำเภอทองผาภูมิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อพูดคุย ชี้แจง และทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ให้เห็นความสำคัญและร่วมกันอนุรักษ์ปูดังกล่าว ซึ่งในอนาคตอาจพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวต่อไป
ด้านนายจีรพันธ์ ขันแก้ว อายุ 48 ปี ชาวบ้านหมู่ 1 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อาชีพเกษตรกรชาวสวนยางบ้านขนุนคลี่ หมู่ 4 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ผู้ริเริ่มศึกษาพฤติกรรมในพื้นที่บ้านขนุนคลี่ ก่อนจะมีการถ่ายภาพและเผยแพร่ความสวยงาม และน่ารักของปูลงในเฟซบุ๊ก และติ๊กต็อกของตนเอง พร้อมทั้งนำพื้นที่ในสวนยางเนื้อที่กว่า 7 ไร่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของปูเพื่อเป็นการอนุรักษ์ เปิดเผยว่า
ตนรู้สึกตื่นเต้นและดีใจที่ได้รับแจ้งจากประมงอำเภอว่าปูทั้ง 4 ตัวที่ส่งไปพิสูจน์เป็นปูชนิดใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับอำเภอทองผาภูมิ ที่มีการพบปูชนิดใหม่หลังจากที่เคยมีการค้นพบปูราชินี ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ เมื่อหลายปีก่อน จะทำให้อำเภอทองผาภูมิกลายเป็นที่รู้จักของประชาชนและนักท่องเที่ยว ในอนาคตตนพร้อมจะเปิดพื้นที่สวนยางให้เป็นแหล่งเรียนรู้และวิจัยปูชนิดใหม่นี้ ให้นักศึกษา อาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ รวมทั้งประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจ เพื่อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปูต่อไป
สำหรับปูชนิดใหม่ที่พบในครั้งนี้มีลักษณะคือสีของกระดองที่เป็นสีม่วงเปลือกมังคุด บริเวณขอบเบ้าตาขอบกระดอง ขาเดินทั้ง 4 คู่ และก้ามหนีบทั้ง 2 ข้างจะเป็นสีเหลืองส้ม ปลายขาข้อสุดท้ายและปลายก้ามหนีบมีสีขาวงาช้าง และขนาดของปูมีความกว้างของกระดองประมาณ 3.5 เซนติเมตร ปูเพศผู้และเพศเมียจะมีลักษณะที่คล้ายกัน โดยจะมีส่วนคล้ายที่กันคือส่วนท้อง หรือที่เรียกว่าตะปิ้ง
อำเภอทองผาภูมิเป็นพื้นที่สำคัญที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของปูราชินี (ในพื้นที่ห้วยพัสดุกลาง ห้วยปากคอก พุท่ามะเดื่อ และพุปูราชินี (อ.อ.ป ) ต.ห้วยเขย่ง) ที่ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ พ.ศ.2535 มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thaiphusa sirikit (Naiyanetr, 1992) และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Regel Grab ปัจจุบันปูราชินีจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่หายากในสภาพธรรมชาติ และปัจจุบันปูราชินีกลายเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำอำเภอทองผาภูมิที่ทุกคนรู้จัก