นครพนม - เกษตรกรลุ่มน้ำสงคราม-ลำน้ำอูนเร่งอพยพสัตว์เลี้ยงโค-กระบือขึ้นที่สูง หลังลำน้ำอูน ลำน้ำสงครามล้นตลิ่ง ท่วมที่ลุ่ม เผยข้าวนาปีจมน้ำกว่า 4,000 ไร่ ทั้งขาดแคลนหญ้าสด อาหารสัตว์ ล่าสุดฟางอัดแท่งราคาพุ่ง แบกต้นทุนเลี้ยงสูงจนกว่าระดับน้ำลด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนมระดับน้ำโขงยังคงต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีระดับสูงต่อเนื่อง ประมาณวันละ 10-20 เซนติเมตร ล่าสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 9.50 เมตร ถึงแม้ฝนเริ่มหยุดตก แต่ยังมีมวลน้ำที่ระบายมาจากประเทศจีน หนุนลำน้ำสาขาสายหลักทั้งลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม มีปริมาณเกินความจุ ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากระบายลงน้ำโขงช้า และยังมีมวลน้ำที่ล้นตลิ่ง เอ่อท่วมพื้นที่ลุ่ม เป็นพื้นที่นาข้าว และพื้นที่เลี้ยงสัตว์ กว่า 4,000-5,000 ไร่
ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม เกิดน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี หากระดับน้ำโขงหนุนสูง พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีการเลี้ยงโค กระบือ มากกว่า 300-400 ตัว หลังจากลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ล้นตลิ่ง ชาวบ้านต้องเตรียมพร้อมเร่งอพยพโค-กระบือขึ้นที่สูง รวมถึงนำไปเลี้ยงตามเกาะดอนที่น้ำท่วมไม่ถึง หวั่นฝนตกมาซ้ำอีก
ชาวบ้านจึงต้องเฝ้าระวัง เตรียมพร้อมทุกปี ขณะเดียวกันยังได้รับผลกระทบจากปัญหาอาหารสัตว์เลี้ยงการเกษตรเริ่มขาดแคลน ต้องสต๊อกหญ้าสด และฟางอัดแท่ง มีราคาเพิ่มขึ้นจากมัดละ 20 บาท เพิ่ม เป็น 30-40 บาท เพราะชาวบ้านไม่มีพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ต้องสต๊อกหญ้าไว้ให้สัตว์เลี้ยงกินเอง
สอบถามชาวบ้านท่าบ่อ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ต้องเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง หลังจากลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ที่ไหลผ่านใกล้หมู่บ้าน เนื่องจากมีปัญหาน้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร รวมถึงพื้นที่ลุ่ม รวมถึงเป็นพื้นที่ใช้เลี้ยงสัตว์โค กระบือ กังวลว่าจะมีฝนตกมาซ้ำอีก เพราะเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เมื่อ 4-5 ปีก่อนเคยได้รับผลกระทบน้ำท่วมขังหมู่บ้านสูงกว่า 2-3 เมตร พอถึงช่วงฤดูเสี่ยง ชาวบ้านต้องเตรียมพร้อมอพยพโค กระบือ ขึ้นที่สูง นำไปเลี้ยงไว้ตามเกาะ ตามดอนที่สูง ใกล้หมู่บ้าน ป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน
สิ่งที่ได้รับผลกระทบในช่วงนี้ คือพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เพราะถูกน้ำท่วม ต้องต้อนโค กระบือ ไว้ที่สูง และนำอาหารสัตว์ หญ้าสด หญ้าแห้งมาสต๊อกไว้ บางรายต้องแบกต้นทุนสูง ซื้อฟางอัดแท่งมาเลี้ยงโค กระบือ ที่ช่วงนี้มีราคาเพิ่มขึ้น จากแท่งละ 20 บาท เพิ่มเป็น 30 -40 บาท บางรายต้องแบกภาระค่าอาหารสัตว์ วันละ 300-400 บาท จนกว่าระดับน้ำจะลดเข้าสู่ปกติ จึงสามารถปล่อยเลี้ยงตามที่ลุ่มได้