นครพนม -"น้ำโขงวิกฤตแตะระดับ 9 เมตร ห่างจุดล้นตลิ่งแค่ 3 เมตร วันเดียวเพิ่มระดับเกือบ 1 เมตร ชี้ผลกระทบจากเขื่อนจีนเร่งระบายน้ำ เบื้องต้นนาข้าวถูกน้ำท่วมกว่า 5,000 ไร่ เสียหายแล้วกว่า 3,000 ไร่ ผู้ว่าฯ นครพนมนำคณะลงพื้นที่สำรวจเยียวยาเบื้องต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ จ.นครพนมยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ถึงแม้วันนี้ปริมาณฝนในพื้นที่จะลดลง หลังจากตกต่อเนื่องมานานตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับแม่น้ำโขงเพิ่มต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว ทั้งปัจจัยจากปริมาณฝนในพื้นที่ ทั้งมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนประเทศจีน ล่าสุดระดับน้ำโขงเพิ่มมาที่ 9 เมตร ห่างจากจุดวิกฤตล้นตลิ่งแค่ 3 เมตร คือที่ระดับ 12 เมตร
หากระดับน้ำถึงจุดวิกฤตล้นตลิ่งจะส่งผลให้ลำน้ำสาขาสายหลัก คือลำน้ำก่ำ ลำน้ำบัง ลำน้ำอูน และลำน้ำสงคราม ไหลระบายลงน้ำโขงได้ช้า จะทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร รวมถึงพื้นที่ลุ่มขยายวงกว้างมากขึ้น ทั้งนี้ ทางชลประทาน จ.นครพนมต่างเร่งระบายลำน้ำสาขาทุกสายเพื่อรับมือน้ำท่วม
โดยเฉพาะลำน้ำก่ำ ที่รองรับน้ำมาจากพื้นที่หนองหาร จ.สกลนคร ไหลผ่าน อ.วังยาง อ.นาแก ลงสู่แม่น้ำโขง ในพื้นที่ อ.ธาตุพนม ต้องเร่งระบายน้ำก่ำให้มากที่สุดตลอดสาย ระยะทางยาวกว่า 120 กิโลเมตร เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาเติมเพิ่มขึ้นไม่ให้เอ่อท่วมพื้นที่การเกษตร เนื่องจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พื้นที่เกษตรนาข้าวที่ติดลำน้ำก่ำ และติดลำห้วยกุดโดน ต.นาหนาด ต.ฝั่งแดง ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ถูกน้ำท่วมเป็นเนื้อที่กว่า 5,000 ไร่แล้ว คาดว่าจะได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่า 3,000 ไร่
ด้านนายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนคพรนม พร้อมด้วยนางสงวน จันทร์พร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม, นายสมลักษ์ ยกน้อยวงษ์ ปลัดจังหวัดนครพนม, นายจักรพงษ์ ปทุมไกยะ นายอำเภอธาตุพนม, นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม, นางศสิมา สุภาษร เกษตรอำเภอธาตุพนม คณะเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายให้การช่วยเหลือ นำถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภคไปแจกจ่ายแก่ชาวบ้านในพื้นที่ ต.นาหนาด ต.ฝั่งแดง ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม กว่า 800 ครัวเรือน
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และให้กำลังใจ หลังจากได้รับผลกระทบลำห้วยกุดโดนเอ่อท่วมนาข้าวเสียหายแล้วกว่า 3,000 ไร่ หากยังมีฝนตกลงมาต่อเนื่อง คาดว่าจะทำให้นาข้าวของเกษตรกรได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด ทั้งนี้ จังหวัดนครพนมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจให้ความช่วยเหลือทุกด้าน รวมถึงหาทางระบายน้ำลงสู่น้ำโขงให้เร็วที่สุด หากพบความเสียหายให้สำรวจเยียวยาตามระเบียบทางราชการไร่ละ 1,340 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ นอกจากนี้ได้ประสานนายอำเภอทั้ง 12 อำเภอ ผู้นำชุมชนท้องถิ่น แจ้งเตือนประชาชนพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากยังมีแนวโน้มจะเกิดฝนตกลงมาต่อเนื่อง