xs
xsm
sm
md
lg

ก.ธ.จ.แม่กลองติดตามสอดส่องการสร้างโป๊ะท่าเทียบเรือ 18 แห่ง มูลค่า 15 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสงคราม - คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด (ก.ธ.จ.) สมุทรสงคราม ลงพื้นที่ติดตามสอดส่องการสร้างโป๊ะท่าเทียบเรือ 18 แห่ง มูลค่า 15 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำของสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด เบื้องต้น ยังไม่พบปัญหาใดๆ

วันนี้ (25 ก.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.สมุทรสงคราม นายพีระ ทองโพธิ์ ประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.สมุทรสงครามได้ร่วมประชุมกับนางวริดา ตันบุญเอก ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.สมุทรสงคราม และคณะกรรมการ ก.ธ.จ.พร้อมที่ปรึกษา เพื่อร่วมกันติดตามสอดส่องแผนงาน โครงการต่างๆ ของ จ.สมุทรสงคราม ประจำปีงบประมาณ 2566 เช่น โครงการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ จ.สมุทรสงคราม หน่วยงานที่รับผิดชอบ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.สมุทรสงคราม งบประมาณจำนวน 15,000,000 บาท เป็นการก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือ จำนวน 18 แห่ง 22 โป๊ะ บริเวณแหล่งท่องเที่ยวสำคัญใน จ.สมุทรสงคราม จากนั้นทั้งหมดได้ลงพื้นที่โรงหล่อโป๊ะตามโครงการดังกล่าวที่ ต.ท้ายหาด อ.เมืองสมุทรสงคราม และโป๊ะที่ติดตั้งเสร็จเรียนร้อยแล้วหน้าวัดนางวัง ต.อัมพวา อ.อัมพวา
            
นายพีระ ทองโพธิ์ ประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามโครงการต่างๆ ใน จ.สมุทรสงคราม พบว่า ส่วนใหญ่ดําเนินการแล้วเสร็จ แต่มีบางโครงการที่มีปัญหาอุปสรรค เช่น ล่าช้า หรือจะต้องแก้ หรือเร่งรัดผู้รับจ้าง หรือบางโครงการหมดสัญญาไปแล้วต้องทำการปรับและเร่งรัดให้โครงการแล้วเสร็จตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ส่วนโครงการที่สําเร็จ คณะกรรมการจะติดตามว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จมีการบริหารจัดการหรือการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนหรือไม่เพียงใด สำหรับโครงการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ การก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือ จำนวน 18 แห่ง 22 โป๊ะ บริเวณแหล่งท่องเที่ยวสำคัญใน จ.สมุทรสงคราม ขณะนี้การสร้างโป๊ะเสร็จครบแล้ว ซึ่งผู้รับจ้างจะนำไปติดตั้งตามสถานที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ต่อไป ส่วนสิ่งที่จะให้ขับเคลื่อนต่อคือขอให้ทางท้องถิ่นที่รับมอบได้ช่วยกันบริหารจัดการต่อในการอํานวยความสะดวกให้ผู้มาใช้บริการ แต่มีประเด็นหนึ่งที่อยากจะเน้นย้ำคือเรื่องของความปลอดภัยในการใช้โป๊ะ เช่น การกำหนดจำกัดน้ำหนักผู้ใช้บริการ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้มีโครงการที่คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดต้องดูแลเป็นพิเศษคือ โครงการก่อสร้างอาคาร ที่บางครั้งอาจจะใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ อาจจะติดขัดเรื่องทําแล้วยังไม่มีการส่งมอบให้ท้องถิ่น หรือส่งมอบให้หน่วยงานต่างๆ เพราะฉะนั้นถ้าทําแล้วไม่มีการส่งมอบนานวันจะเกิดการชํารุดเสียหาย เวลาไปส่งมอบท้องถิ่นจะไม่รับหรือบางโครงการต้องส่งมอบเป็นที่ราชพัสดุหรือต้องขออนุญาตใช้พื้นที่แล้วส่งมอบไปให้ท้องถิ่นอาจจะติดกระบวนการ ซึ่งจะพยายามไปรับฟังว่าหน่วยงานผู้รับผิดชอบเขามีข้อติดขัดหรือมีปัญหาอุปสรรคอะไร และพยายามที่จะลดปัญหาอุปสรรคเหล่านั้นโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกัน การติดตามครั้งนี้เบื้องต้นยังไม่พบปัญหาใดๆ

ด้านนางวริดา ตันบุญเอก ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ได้มีโอกาสร่วมลงพื้นที่กับคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด ทําให้ได้เห็นโครงการหลายโครงการที่ ป.ป.ช.ไม่เคยรับทราบมาก่อนว่ามีโครงการแบบนี้ และมีคณะกรรมาธิการจังหวัดกํากับดูแลอย่างใกล้ชิด ทําให้ ป.ป.ช.สบายใจในเรื่องของการป้องปราม มีการร่วมมือกันหลายส่วน และเมื่อโครงการเสร็จแล้ว ป.ป.ช.จะดูการเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์ว่าคุ้มค่าหรือไม่ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในเรื่องของการป้องกันการทุจริต

สำหรับแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนและกำหนดแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด (ก.ธ.จ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการปฏิบัติงานร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ

โดยในบันทึกข้อตกลงได้กำหนดเนื้อหาสาระสำคัญในการปฏิบัติงานร่วมกันไว้รวม 3 ด้านได้แก่ 1.ด้านการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ 2.การป้องปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และ 3.การปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ

นอกจากนี้ ยังกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกแผนงาน โครงการ หรือเรื่องร้องเรียนให้ ก.ธ.จ.และหน่วยงานที่ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ไปตรวจสอบหรือได้รับข้อมูลเกี่ยวกับแผนงาน โครงการ หรือเรื่องร้องเรียนแล้วเห็นว่าอาจมีความไม่โปร่งใส ให้พิจารณาว่าแผนงาน โครงการหรือเรื่องร้องเรียนดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานใด และให้ประสานงานกับหน่วยงานนั้นเพื่อนัดหมายในการลงพื้นที่ร่วมกัน ทั้งนี้ แผนงาน โครงการ หรือเรื่องร้องเรียนจะต้องเป็นเรื่องเข้าข่ายลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น 1.เรื่องที่พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความไม่โปร่งใสหรือมีกรณีทุจริตประพฤติมิชอบ 2.เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ 3.ใช้งบประมาณในการดำเนินการสูง 4.มีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ 5.เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชน และ 6.มีข้าราชการระดับสูงหรือกลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้าร่วมในการกระทำผิด






กำลังโหลดความคิดเห็น