ศูนย์ข่าวศรีราชา - อำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี เตรียมจัดงาน “สับปะรดหวานฉ่ำของดีศรีราชา” ประจำปี 2566 วันที่ 28 ก.ค.-6 ส.ค.นี้ ที่ลานสนามบินเครือสหพัฒน์โปรโมตสินค้าเกษตร GI ขึ้นชื่อ ทั้งสับปะรดและขนุนพันธุ์ดี ยกระดับสู่การแปรรูปเพิ่มรายได้ กระตุ้นเกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูกเพื่อการส่งออกหลังชาวจีนนิยมบริโภค
วันนี้ (24 ก.ค.) นายวรจักร สถาพรภิญโญ นายอำเภอศรีราชา เป็นประธานในการแถลงข่าวการจัดงาน “สับปะรดหวานฉ่ำ ของดีศรีราชา ประจำปี 2566” ซึ่งจัดขึ้นที่ลานชั้น 4 ห้างโรบินสันศรีราชา เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตร GI ขึ้นชื่อของท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสับปะรดศรีราชา อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้ให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน และกระตุ้นให้เกษตรกรในพื้นที่เพิ่มพื้นที่ปลูกสับปะรดให้มากยิ่งขึ้น
งานดังกล่าวจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 28 ก.ค.-6 ส.ค.นี้ ที่ลานสนามบินเครือสหพัฒน์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ภายในงานนอกจากจะมีการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรต่างๆ โดยเฉพาะสับปะรดศรีราชาแล้ว ยังจะมีการเปิดบูทจำหน่ายสินค้าโอทอป และสินค้าจากชุมชน รวมทั้งการจัดคาราวานสินค้าในเครือสหพัฒน์ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค และงานมินิมอเตอร์โชว์
ไฮไลต์สำคัญยังอยู่ที่การประกวดสับปะรดพันธุ์ดี ขนุนพันธุ์ดี และการเปิดร้านจำหน่ายสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน การแข่งขันแปรรูปสับปะรด ทั้งสับปะรดกวน แกงคั่วสับปะรด และตำส้มตำลีลา รวมถึงการแข่งขันกองเชียร์ การประกวดธิดาสับปะรด และหนูน้อยสับปะรด
ทั้งนี้ สาวงามที่สนใจเข้าร่วมการประกวดธิดาสับปะรด จะต้องมีอายุตั้งแต่ 15-25 ปี และมีสัญชาติไทย รวมทั้งมีภูมิลำเนาอยู่ใน อ.ศรีราชา ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ซึ่งผู้ที่ได้รับตำแหน่งธิดาสับปะรดจะได้เงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท รองอันดับ 1 รางวัล 20,000 รองอันดับ 2 รางวัล 10,000 บาท ส่วนตำแหน่งขวัญใจสื่อมวลชน และขวัญใจประชาชน รางวัล 10,000 บาท
ส่วนการประกวดหนูน้อยสับปะรด ผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท รองอันดับ 1 รางวัล 10,000 บาท รองอันดับ 2 รางวัล 5,000 บาท เช่นเดียวกับตำแหน่งขวัญใจสื่อมวลชน
นายอำเภอศรีราชา ยังบอกอีกว่า ปัจจุบัน อ.ศรีราชา มีพื้นที่ปลูกสับปะรดเหลือเพียง 6,384 ไร่ และมีผลผลิตประมาณ 40,000 ตันต่อปี จากเมื่อ 6 ปีก่อนมีพื้นที่ปลูกเกือบ 15,000 ไร่ ซึ่งปัญหาที่ทำให้พื้นที่ปลูกสับปะรดในพื้นที่ลดลงเป็นเพราะราคาพืชผลเกษตรชนิดอื่นที่สูงกว่าโดยเฉพาะมันสำปะหลัง จึงทำให้เกษตรกบางส่วนหันไปปลูกมันสำปะหลังแทน
“การจัดงานในครั้งนี้จะเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าทางการเกษตรใน อ.ศรีราชา ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสับปะรด และขนุน จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทั้งในพื้นที่และใกล้เคียงเข้าร่วมงาน ซึ่งจะมีสินค้าให้เลือกซื้อมากมายโดยเฉพาะสินค้าชุมชน เชื่อว่าเป็นงานใหญ่อย่างแน่นอน” นายอำเภอศรีราชา กล่าว
ขณะที่ นายอาทิตย์ ทองพิมพ์ เกษตรอำเภอศรีราชา เผยว่า ปัจจุบันราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำทำให้เกษตรกรมีรายได้น้อยลง สำนักงานเกษตรอำเภอ จึงร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหัด ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่รวมตัวกันทำเกษตรแปลงใหญ่เพื่อให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ในการพัฒนาผลผลิต
และยังส่งเสริมให้เกษตรกรแปรรูปผลผลิตสับปะรดที่เหลือจากการขายเข้าโรงงานเป็นสับปะรดกวนสร้างรายได้
“ปัจจุบันผลผลิตสับปะรดศรีราชาถูกส่งขายให้โรงงานมากถึง 90% ที่เหลือ 10% เป็นการแปรรูปและขายผลสด ซึ่งปัญหาที่ทำให้ราคาผลผลิตตากต่ำมาจากการส่งออก และปัญหาผลผลิตล้นตลาดโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการปลูกสับปะรดจำนวนมากใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งส่งเสริมการประชาสัมพันธ์สับปะรดศรีราชาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น”
ขณะที่ นายวีระ สาเกทอง และนางสำเนา สาเกทอง เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดรายใหญ่ใน ต.บางพระ บอกว่าทำไร่สับปะรดมาตั้งแต่ปี 2522 และได้มีการพัฒนาพันธุ์สับปะรดปัตตาเวีย มาโดยตลอด ซึ่งผืนดินใน อ.ศรีราชา เป็นที่ดินปนทราย เหมาะกับการปลูกสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย จึงทำให้ผลผลิตที่ได้มีความหวานฉ่ำ เนื้อนิ่ม รสชาติอร่อย แต่จากความเจริญที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้พื้นที่ปลูกเหลือน้อยลง
จึงอยากฝากไปยังผู้ปลูกสับปะรดในพื้นที่ให้ยึดถือจุดเด่นของสับปะรพพันธุ์ปัตาเวีย ที่จะมีความสมบูรณ์เต็มที่เมื่อผลผลิตมีอายุได้ประมาณ 70-80% ซึ่งหากเกษตรกรเลือกตัดผลผลิตในช่วงนี้จะได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ แต่ปัญหาที่เจอคือเมื่อราคาสับปะรด พุ่งสูงเกษตรกรจะเร่งตัดผลผลิตออกขายโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ จนส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของสับปะรดศรีราชา ที่ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมบริโภคของนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นอย่างมาก