xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจแล้วโบราณสถานกลางทุ่งนา อ.แวงน้อย ภาพสลักหินกวนเกษียรสมุทร อายุเก่าแก่มากกว่า 900 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หินสลักโบราณที่พบกลางทุ่งนาในพื้นที่บ้านหนองโก ต.ก้านเหลือง อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นักโบราณคดีลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว โบราณสถานขนาดใหญ่กลางทุ่งนา อ.แวงน้อย เผยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ อายุมากกว่า 900 ปีเป็นอิทธิพลขอมโบราณ พบภาพสลักหินทรายสมบูรณ์ ในพิธีกวนเกษียรสมุทรของเทพและมาร ขณะที่ชาวบ้านศรัทธาร่วมทำบุญเบิกบ้านจากอดีตจนถึงปัจจุบัน


วันนี้ (8 ก.ค.) ที่โบราณสถานโนนพระแท่น บ้านหนองโก ต.ก้านเหลือง อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น นางสาวทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น พร้อมนักโบราณคดี ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจโบราณสถานโนนพระแท่น หลังจากมีชาวบ้านทำหนังสือขอให้ตรวจสอบหินทรายและศิลาแลงกลางทุ่งนาบ้านหนองโก ซึ่งการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่นักโบราณคดีในครั้งนี้ มีนายช่วง วงษ์หาแก้ว อายุ 83 ปี เจ้าของที่นา และนายศรัญญู ภูเวียงแก้ว อายุ 54 ปี ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน พาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจุดศูนย์รวมของหินทรายและศิลาแลง ซึ่งอยู่กลางทุ่งนาด้านทิศใต้หมู่บ้าน

นายช่วง วงษ์หาแก้ว เจ้าของที่นา กล่าวว่าเกิดมาและจำความได้ก็เห็นหินเหล่านี้วางอยู่บริเวณเนินดินกลางทุ่งนาแล้ว จนกระทั่งพ่อเสียชีวิต ตอนพ่ออายุ 100 ปี 4 เดือน ซึ่งตลอดช่วงที่พ่อมีชีวิตนั้น พ่อกับชาวบ้านนำหินที่พบในทุ่งนานำขึ้นมาเรียงกันไว้ ชาวบ้านก็นำดอกไม้ ธูป เทียน มากราบไหว้และบนบาน ขอในสิ่งที่ปรารถนา ก็ปรากฏว่าสมหวังทุกคน จนกลายเป็นประเพณีประจำหมู่บ้าน โดยทุกวันพุธแรกของเดือนเมษายน ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ บวงสรวง และสักการบูชา เพราะเป็นสถานที่ที่พบหินทรายและศิลาแลง เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนในหมู่บ้านตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

“ลูกผมเคยมาบนและไหว้ด้วยการนำพวงมาลัยคู่มาถวาย ขอให้การงานรุ่งเรือง ก็เจริญรุ่งเรืองจนทุกวันนี้ และในช่วงสงกรานต์ทุกปีจะมีการร่วมทำบุญเบิกบ้าน จุดบั้งไฟก่อนเริ่มลงมือทำนา กลายเป็นประเพณีของหมู่บ้านจนถึงทุกวันนี้ และการมีนักโบราณคดีมาตรวจสอบก็เป็นการดี จะได้รู้ว่าหินที่พบในทุ่งนามาตั้งแต่ 100 กว่าปีนั้นเป็นหินศักดิ์สิทธิ์จริง จะได้ร่วมกันดูแลรักษาให้ลูกหลานได้ชมและได้ความรู้” นายช่วงกล่าว




ด้านนายศรัญญู ภูเวียงแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหนองโก กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดมาและจำความได้ก็เห็นสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านจะถือเอาวันพุธแรกเป็นวันบวงสรวง มีการจุดบั้งไฟบูชา ซึ่งสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่ยุคบิดามารดามาจนปัจจุบัน

ช่วงที่ตนยังไม่รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ก็เกิดปาฏิหาริย์ เพราะชาวบ้านช่วยกันย้ายนำหินไปไว้ข้างโรงเรียนเพื่อจะให้ชาวบ้านได้สักการะในที่สาธารณะ ปรากฏว่าเมื่อย้ายหิน เจ้าของที่นาจุดพบหินก็ไม่สบายอย่างหนัก จึงคิดว่าน่าจะเกิดจากการย้ายหินออกจากจุดที่ตั้ง จึงย้ายกลับ คนป่วยก็หายเป็นปกติ ยิ่งสร้างความเลื่อมใสศรัทธา

ในสมัยพ่อแม่ ไม่มีใครแจ้งเจ้าหน้าที่ แต่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนไป ลูกหลานคนในหมู่บ้านได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น มาตรวจสอบ เพราะถ้าเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ และยืนยันว่าเป็นหินจากโบราณสถาน ชาวบ้านจะยิ่งศรัทธามากขึ้น คงไม่มีการเคลื่อนย้ายนำไปไว้ที่อื่นเด็ดขาด ชาวบ้านเองจะร่วมกันดูแลรักษาไม่ให้สูญหาย ทั้งความสะอาดและสถานที่เป็นอย่างดี เชื่อว่าไม่มีใครกล้าเอาหินไปอย่างแน่นอน

ด้านนางสาวทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น พร้อมเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันตรวจเช็กและวัดหินทรายที่มีทั้งหมด 16 ชิ้น แต่ละชิ้นยาวประมาณ 1.5 ถึง 2 เมตร และตรวจวัดศิลาแลงที่มีอยู่ประมาณ 30 ชิ้น ได้แนะนำชาวบ้านและผู้นำชุมชนว่า ห้ามปักธูปเทียนบนหินและศิลาแลงเด็ดขาด เพราะจะกระทบความสมบูรณ์ของหิน ให้ผู้นำแนะนำชาวบ้าน หากต้องการกราบไหว้และทำบุญให้วางสิ่งของหรือปักธูปเทียนจุดอื่น ห้ามนั่งหรือเหยียบหินด้วยเช่นกัน


“สถานที่จุดที่พบหินทรายและศิลาแลงนี้ เป็นโบราณสถานที่เรียกว่าอาคารภายใต้อิทธิพลทางวัฒนธรรมเขมร จากลักษณะของภาพสลักที่ปรากฏ กำหนดอายุเบื้องต้นอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 17 ถึง 18 ซึ่งอยู่ในช่วงศิลปะนครวัดถึงบายล ตอนแรกสันนิษฐานว่าเป็นทัพหลัง แต่ด้วยขนาดความยาวที่ต่อเนื่องกัน จึงขอศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม จากที่พบจะมีภาพคนจับวัตถุคล้ายๆ ทรงกระบอก ซึ่งทรงกระบอกนี้คือลำตัวพญานาค มีการจับทั้งฝั่งด้านซ้ายและฝั่งด้านขวา ซึ่งจะแบ่งเป็นฝั่งยักษ์และฝั่งเทพ ที่เห็นด้านหน้าถ้าเป็นภาพที่สมบูรณ์ เราจะเห็นไปจนถึงส่วนหาง และอีกทางฝั่งจะเห็นเศียรนาค แต่ว่ายังไม่พบชิ้นส่วนที่ขาดหายไป โดยทั่วไปที่เห็นอยู่ตรงนี้จะเป็นฝั่งเทพ อีกฝั่งที่อยู่ด้านนั้นจะเป็นฝั่งยักษ์” นางสาวทิพย์วรรณกล่าว และว่า

ถ้าดูจากด้านทิศเหนือของโบราณสถานแห่งนี้ น่าจะเป็นชุมชนโบราณเก่าแก่ถึงก่อนประวัติศาสตร์ เพราะในบริเวณใกล้เคียงเราได้สำรวจพบชุมชนโบราณในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ด้วย ในหลายๆแห่งที่อยู่ในเขตอำเภอแวงน้อย อำเภอแวงใหญ่ อำเภอชนบท จากข้อมูลพื้นที่ในหมู่บ้าน เคยมีการขุดพบเศษภาชนะดินเผา ตรงบริเวณโรงเรียน ซึ่งเป็นจุดสูงที่สุดของเนิน จากภาพถ่ายทางอากาศพบว่าตัวของโบราณสถานล้อมรอบเนินหมู่บ้านในปัจจุบันน่าจะเคยมีร่องรอยในลักษณะของคูน้ำที่ล้อมรอบอยู่


ปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพเป็นสระน้ำ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานที่มีมานานก่อนหน้านั้น ก่อนจะมีการสร้างโบราณสถานแห่งนี้ แสดงให้เห็นถึงการมีชุมชนโบราณอาศัยอย่างต่อเนื่อง ก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว เรื่อยมาจนถึงช่วง 900 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสถานที่ตรงนี้ก็เป็นโบราณสถาน ถ้าเทียบกับปัจจุบันคือวัด หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์


กำลังโหลดความคิดเห็น