นครพนม - วธ.เปิดเส้นทางตามรอยพญานาค เชื่อม 5 จังหวัดภาคอีสาน นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ หนองคาย และจังหวัดอุดรธานี ชูอัตลักษณ์และวิถีชีวิตท้องถิ่นผ่านความเชื่อและความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขง มั่นใจช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ผ่านการท่องเที่ยวที่ควบคู่ไปกับส่งเสริมวัดและศาสนสถาน
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ครม.ได้เห็นชอบให้นาคเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติประเภทสัตว์ในตำนาน ซึ่งเป็นการประกาศในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างให้เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ ที่เป็นการนำ Soft Power ทุนทางวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้เข้าประเทศ ดังนั้น กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้จัดกิจกรรม เส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขงขึ้น
โดยเป็นการบูรณาการงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการนำอัตลักษณ์และวิถีชีวิตท้องถิ่นของคนลุ่มแม่น้ำโขงที่มีความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค มาเป็น Soft Power ดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ผ่านเส้นทางการท่องเที่ยวที่เรียกว่าตามรอยพญานาค
ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวในมิติทางศาสนาและมิติทางวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องราว ตำนาน ความเชื่อ ความศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับพญานาคที่มีความคล้ายคลึงกันใน 5 จังหวัดภาคอีสาน คือ จังหวัดนครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ หนองคาย และจังหวัดอุดรธานี เพื่อสร้างกระแสการรับรู้ กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดความสนใจและเดินทางมาท่องเที่ยวตามรอยเส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มแม่น้ำโขงนี้
นายอิทธิพลกล่าวต่อว่า เส้นทางดังกล่าวจะเริ่มต้นตั้งแต่ทางทิศเหนือของแม่น้ำโขง วัดโพธิ์ชัย พระธาตุหล้าหนอง พระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคาย เรื่อยลงมาที่จังหวัดอุดรธานี วังนาคินทร์ คำชะโนด จังหวัดบึงกาฬ ถ้ำนาคา เจ้าปู่อือลือนาคราช จังหวัดนครพนม วัดมหาธาตุ ลานพญาศรีสัตตนาคราช วัดพระธาตุพนม และจังหวัดมุกดาหาร ลานพญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช พญาอนันตนาคราช วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์
เป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยกระดับอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักแก่นานาชาติ นำมาสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ผ่านการท่องเที่ยวที่ควบคู่ไปกับส่งเสริมวัดและศาสนสถาน
“ถือเป็นแหล่งเรียนรู้คู่คุณธรรมที่มีคุณภาพ มีการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่และผู้ที่เกี่ยวข้องรองรับสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับบริบทความต้องการของประชาชนและนักท่องเที่ยวผู้มารับบริการ โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะและเรียนรู้ด้านศาสนา สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่” นายอิทธิพลกล่าว
สำหรับวันนี้ (8 ก.ค.) นายอิทธิพลได้เดินทางมาเปิดกิจกรรมตามรอยพญานาคที่จังหวัดนครพนม พร้อมกับนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางแสงมณีจรรณ์ เพชรสังหาร ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครพนม ผู้แทนรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านการตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ และประชาชนในพื้นที่ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก