ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ว่าฯ โคราชลงพื้นที่สางปัญหาเหมืองแร่โปแตช อ.ด่านขุนทด ปล่อยน้ำเค็มทำลายไร่นาเสียหายกว่า 1 หมื่นไร่ ขณะชาวบ้านด่านขุนทดยื่น 2 ข้อเสนอ ยันให้หยุดประกอบกิจการเหมืองแร่และตรวจสอบพฤติกรรม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ ผช.ผู้ใหญ่บ้าน 3 ตำบลในพื้นที่ทุจริตประพฤติมิชอบสนับสนุนให้ทำเหมืองแร่
วันนี้ (7 ก.ค.) ที่วัดสระขี้ตุ่น ม.6 บ้านสระขี้ตุ่น ต.หนองบัวตะเกียด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปลัดจังหวัด นายอำเภอ อุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 6 นครราชสีมา และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นและปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน 3 ตำบล ของ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ซึ่งได้แก่ ต.หนองบัวตะเกียด, ต.หนองไทร และ ต.โนนเมืองพัฒนา รวมกว่า 200 คน ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตชของ บริษัทไทยคาลิ จำกัด
หลังได้รับอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชเป็นระยะเวลา 25 ปี ระหว่างปี 2558-2583 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 9,000 ไร่ ใน ต.หนองไทร ต.หนองบัวตะเกียด และ ต.โนนเมืองพัฒนา อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา และได้มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ส่งผลกระทบทำให้ที่ดิน ไร่ นา ของชาวบ้านใน 3 ตำบลดังกล่าวได้รับผลกระทบเกิดปัญหาดินเค็มอย่างหนัก ไม่สามารถทำการเกษตรได้ สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้างกว่า 1 หมื่นไร่
ภายหลังร่วมพูดคุยรับฟังปัญหาจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแล้ว ตัวแทนชาวบ้านได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา 2 ข้อเสนอ คือ ให้หยุดประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตช และให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพฤติกรรมของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านของ 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.หนองบัวตะเกียด ต.หนองไทร และ ต.โนนเมืองพัฒนา ในฐานความผิดมีพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตและมีความประพฤติปฏิบัติโดยมิชอบ สนับสนุนให้มีการทำเหมืองแร่โปแตชจนชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ชาวบ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ความเดือดร้อนของชาวบ้านในครั้งนี้ ทางจังหวัดได้ดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนมาโดยตลอด และหลังจากรับเรื่องร้องเรียนแล้วจะเร่งดำเนินการสรุปเรื่องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบการประกอบกิจการของเหมืองแร่ ซึ่งชาวบ้านให้เงื่อนไขเพียงอย่างเดียว คือ ต้องการให้หยุดการประกอบกิจการ รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยร่วมกับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สรุปเรื่องทั้งหมดภายใน 7-10 วัน และจะนำข้อมูลที่ได้ที่ไม่กระทบสิทธิของบุคคลอื่น มานำเสนอต่อพี่น้องประชาชนเพื่อความโปร่งใส
รวมทั้งจะนำส่งข้อมูลที่ได้ไปยังส่วนกลาง เพื่อให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยทางจังหวัดจะติดตามผลการดำเนินการให้กับชาวบ้าน ซึ่งหากชาวบ้านหรือเอกชนมีหลักฐาน-ข้อมูล สามารถส่งเพิ่มเติมให้กับทางจังหวัดหรือทางอำเภอได้ เพื่อนำไปประกอบดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็วต่อไป นายสยามกล่าวในตอนท้าย