xs
xsm
sm
md
lg

พิสูจน์พลัง “แม่ญิงซาวหลวง เมืองน่าน” รังสรรค์ผ้าทอสุดวิจิตรติดแบรนด์ “น่านเน่อเจ้า” ดังไกลทั้งใน-ตปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น่าน - ส่องพิสูจน์พลังสตรีบ้านซาวหลวง เมืองน่าน..ฟื้นภูมิปัญญา รังสรรค์ลวดลายจากเตาเผาโบราณ 700 ปี ลงบนผืนผ้าทอสะท้อนอัตลักษณ์ชุมชน จนติด 1 ใน 4 แบรนด์ ‘น่านเน่อเจ้า’ สร้างอาชีพ-รายได้ ดังไกลทั้งในและ ตปท. การันตีรางวัลระดับเอเชียแปซิฟิก


ชาวบ้านซาวหลวง ต.บ่อสวก อ.เมืองน่าน จ.น่าน ลงมือทอผ้าเป็นเครื่องนุ่งห่ม ใช้สอยในครัวเรือนมาแต่ดั้งเดิม โดยมีผ้าที่เป็นลายเอกลักษณ์ อย่าง..ลายน้ำไหล ลายม่าน ลายป้อง และลายที่สะท้อนอัตลักษณ์ชุมชนคือ “ผ้าลายบ่อสวก” เป็นลายผ้าที่แกะมาจากลายปั้นแปะบนปากหม้อปากไหที่ขุดพบในแหล่งเตาเผาโบราณ

เชื่อกันว่า.. “ผ้าลายบ่อสวก” จะนำมาซึ่งความมั่งคั่งเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ที่ได้สวมใส่ ประกอบด้วยการทอผ้าฝีมือประณีต ผ้าทอบ้านซาวหลวงจึงสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศมานาน

นางวัลลภา อินผ่อง รองประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง เล่าว่า ผู้หญิงชุมชนบ้านซาวหลวงส่วนใหญ่มีความรู้ด้านการทอผ้า เพราะได้สืบทอดภูมิปัญญามาจากแม่ ย่า ยาย จากรุ่นสู่รุ่น เมื่อว่างจากงานหลักการเกษตรก็จะทอผ้าไว้สวมใส่ในครอบครัวอยู่แล้ว จึงได้มีการหารือกันว่าการทอผ้านี้น่าจะสร้างรายได้ให้ผู้คนในพื้นที่ นำมาสู่การก่อตั้งกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวงในปี 2527

อย่างไรก็ตาม แม้ฝีมือ-ภูมิปัญญาท้องถิ่นของบ้านซาวหลวงจะทอผ้าสวยมีคุณภาพ แต่ก็ยังขาดจุดเด่น กระทั่งปี 2540 กรมศิลปากรได้มาขุดเจอเตาเผาโบราณที่ใช้สำหรับเผาเครื่องปั้นดินเผา แหล่งเครื่องปั้นดินเผาสมัยโบราณที่มีอายุกว่า 700 ปี ในตำบลบ่อสวก จึงก่อเกิดแนวคิดการทำผ้าลายบ่อสวก สร้างอัตลักษณ์ของชุมชนขึ้นมา ผสมลายดั้งเดิม ผสานเรื่องราวให้เห็นภาพใกล้เคียงกับตำนานมากที่สุด

จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่มีเฉพาะบ้านซาวหลวง พัฒนาแปรรูปผ้าทอ นำลายผ้าซิ่นมาออกแบบเป็นการใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นสินค้าหลากหลาย มีทั้งเสื้อ เสื้อคลุม ผ้าขาวม้า ผ้าปูโต๊ะ ผ้าม่าน ผ้าปูเตียง ให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า ช่วยขยายตลาดใหม่ๆ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากอาชีพหลักทางการเกษตร

รวมทั้งได้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 หรือ อพท.น่าน เข้ามาสนับสนุนจนทำให้เกิดแบรนด์ ‘น่านเน่อเจ้า’ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอเมืองน่านที่มาจาก 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มทอผ้าโฮงเจ้าฟองคำ ตำบลในเวียง 2. กลุ่มท่อผ้าบ้านซาวหลวง ตำบลบ่อสวก 3. กลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา ตำบลบ่อสวก 4. กลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเชียงราย ตำบลดู่ใต้ ร่วมสร้างพลังและการจดจำในผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกให้กับสินค้าพื้นเมืองจังหวัดน่าน สะท้อนอัตลักษณ์ผ่านลวดลายบนผืนผ้า

โดยมีจุดเด่นทั้งเรื่องการรวมกลุ่มของสตรีแม่บ้าน ที่พัฒนางานอดิเรกให้กลายเป็นอาชีพ ช่วยสร้างรายได้ ที่สำคัญเป็นการส่งต่อคุณค่านำมาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จนได้รับรางวัล PATA Gold Awards 2020 ประเภทรางวัล Women Empowerment Initiative จากสมาคมการท่องเที่ยวแห่งเอเชียแปซิฟิก ยิ่งทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในประเทศ และเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ

และในปัจจุบันได้ยกระดับโรงทอผ้าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเรียนรู้เรื่องราวของผ้าทอโบราณลายอื่นๆ ของเมืองน่าน ที่นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการแรก คือการปลูกฝ้ายและเก็บดอกฝ้ายออร์แกนิก การผลิตเส้นด้าย แต่งแต้มสีสันลงบนเส้นด้าย บอกเล่าสะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นผ่านลวดลายผ้า ทอด้วยความประณีตบรรจง เป็นผ้าลายยกดอก ผ้าลายคำเคิบ ผ้าทอมือลายม่านบ่อสวก ที่ล้วนทอด้วยจิตวิญญาณผ่านเรื่องราวบนเนื้อผ้าของชุมชนที่ได้ชื่อว่าผลิตผ้าทอมากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองน่าน

จากงานอดิเรกในยามว่าง ปัจจุบันกลุ่มสตรีในหมู่บ้านซาวหลวงได้นำภูมิปัญญาการทอผ้าพื้นเมืองมารังสรรค์ลวดลายสะท้อนอัตลักษณ์ และส่งต่อคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมให้คนรักผ้าทอ ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ ควบคู่กับอาชีพ และรายได้อย่างยั่งยืน










กำลังโหลดความคิดเห็น