xs
xsm
sm
md
lg

63 คนงานเคว้ง! โรงงานสกรีนชุดกีฬาปิดกิจการ เจ้าของหนีหน้าไม่ยอมเจรจา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - วอนช่วยพนักงาน 63 ชีวิต ถูกบริษัทสกรีนชุดกีฬาแบรนด์ดังระดับโลกลอยแพ ปิดกิจการหนี ไม่ยอมส่งเงินประกันสังคมส่วนที่หักกับพนักงานไว้ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบช่วยเหลือ เตรียมเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นขอความเป็นธรรม

น.ส.อมรรัตน์ สิทธิปน 1 ใน 63 พนักงานที่ถูกลอยแพ โรงงานปิดกิจการหนี
วันนี้ (21 มิ.ย.) ที่บริเวณด้านหน้ารีไลน์แอนด์สกรีน จำกัด ในพื้นที่ ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พบคนงานจำนวน 63 คนที่ถูกบริษัทลอยแพ รวมตัวเรียกร้องขอค่าแรงที่บริษัทค้างจ่าย ซึ่งภายในบริษัทที่ตั้งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีเพียงเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลนั่งเฝ้าโรงงานอยู่บริเวณโรงอาหาร และไม่สามารถให้คำตอบแก่คนงานได้

น.ส.อมรรัตน์ สิทธิปน อายุ 35 ปี ชาวอำเภอชนบท จ.ขอนแก่น หนึ่งในคนงานของบริษัทดังกล่าว เปิดเผยว่า บริษัทแห่งนี้ประกอบกิจการรับสกรีนเสื้อและกางเกงกีฬาแบรนด์เนมชื่อดัง (อาดิดาส และไนกี้) เป็นสาขาของบริษัทใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยมาเปิดบริษัทในพื้นที่บ้านเมืองเพีย ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ตั้งแต่ปี 2553 มาจนถึงปัจจุบัน

“ทำงานในแผนกตรวจสอบคุณภาพ ได้ค่าแรงวันละ 344 บาท และบริษัทจ่ายค่าแรงเป็นวีก วีกละ 4,200 บาท พร้อมกับหักจ่ายประกันสังคม 225 บาท โดยทำงานมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันปิดโรงงานวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลแจ้งลงกลุ่มไลน์บริษัทว่า "ประกาศให้พนักงานทุกคนรับทราบค่ะ ปุ้ยฝ่ายบุคคลได้รับประสานงานมาจากคุณเล็ก เวลา 13.34 น. ให้ปิดกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 จึงแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันค่ะ"

น.ส.อมรรัตน์กล่าวต่อว่า จึงทราบว่าบริษัทที่กรุงเทพฯ แจ้งให้ปิดโรงงานขอนแก่น ทำให้คนงานที่ทำงานในบริษัทงงกันมาก เพราะไม่มีแจ้งล่วงหน้า แต่ทุกคนก็ยังทำงานต่อ จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ไฟฟ้าก็ถูกตัด และไม่สามารถทำงานได้ วันที่ 2 มิถุนายน 2566 มีเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดขอนแก่น พร้อมเจ้าหน้าที่ประกันสังคมจังหวัดขอนแก่น ประสานมาที่บริษัทให้คนงานทั้งหมดไปประชุมและกรอกเอกสารที่ อบต.เมืองเพีย คนงานทั้งหมดจึงเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่

เมื่อพบกับเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดขอนแก่นแจ้งให้ทราบว่า บริษัทปิดตัวลงแล้วคนงานทั้งหมดได้รับความเดือดร้อน จึงต้องกรอกเอกสารเพื่อรับเงินชดเชยจากกระทรวงแรงงาน โดยคนที่อายุงาน 6 เดือน จะได้รับค่าชดเชยวันละ 180 บาท ถ้าทำงานไม่เกิน 10 ปี จะได้รับเงินชดเชยวันละ 240 บาท ถ้า 10 ปีขึ้นไป รับเงินชดเชยวันละ 300 บาท และทุกคนจะได้ค่าตกใจคนละ 23 วัน




ส่วนเจ้าหน้าที่ประกันสังคมแจ้งว่า ตามสิทธิของคนงานตกงานนั้นจะได้รับค่าชดเชยคนละ 50% ของค่าแรงจำนวน 6 เดือน แต่บริษัทไม่ส่งเงินให้ประกันสังคม ทั้งที่คนงานทั้ง 63 คน ถูกหักเงินไปหมดแล้ว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ประกันสังคมแจ้งว่าบริษัททำเรื่องผ่อนจ่ายอยู่ คนงานทุกคนก็เกิดความไม่สบายใจว่าจะยังใช้สิทธิประกันสังคมได้หรือไม่ เพราะบริษัทละเลยไม่นำเงินส่งให้ประกันสังคม ทั้งที่มีงานเข้ามาตลอด ช่วงโควิดระบาดก็ยังรับงานและเปิดบริษัททำงานมาอย่างต่อเนื่อง คนงานทำงาน ทำเงินให้บริษัทมาอย่างต่อเนื่อง บริษัทไม่น่าทำกับพนักงานเช่นนี้

น.ส.อมรรัตน์กล่าวอีกว่า หลังจากพบเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดขอนแก่น และเจ้าหน้าที่ประกันสังคมในวันที่ 2 มิถุนายนแล้ว มีการประสานงานกับสำนักงานใหญ่กรุงเทพฯ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลเป็นตัวกลางประสานงาน เพื่อขอเงินเดือนเดือนสุดท้ายที่คนงานทั้ง 63 คนทำงานแล้วไม่ได้รับค่าจ้าง รวมเป็นเงินจำนวน 21,420 บาท ซึ่งได้รับคำตอบว่าจะได้เงินในวันที่ 16 มิถุนายน แต่ก็ไม่มีใครได้เงิน


ครั้งนี้จึงรวมตัวกันมาที่บริษัท พบว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลเฝ้าบริษัทอยู่จึงทวงถามเงินค่าแรง แต่ฝ่ายบุคคลไม่สามารถให้คำตอบได้ ซึ่งคนงานทุกคนต่างมีความเห็นตรงกันว่า เมื่อบริษัทปิดตัวลง และทิ้งคนงานเช่นนี้ และไม่เหลียวแลจ่ายเงินให้ ก็จะรวมตัวเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นแก้ปัญหาดังกล่าวให้ในเร็วๆ นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น