xs
xsm
sm
md
lg

พช.นครพนมหนุนกลุ่มทอผ้านาหว้าโมเดลทอผ้าลายพระราชทานเข้าประกวดกว่า 300 ชิ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครพนม - พช.นครพนมติดตามการพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทยของกลุ่มนาหว้าโมเดล ในโอกาสครบรอบ 50 ปีโครงการศิลปาชีพ ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” พร้อมส่งเสริมให้ทอผ้าส่งสมัครประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” จำนวน 350 ชิ้น และงานหัตถกรรมที่นำลายพระราชทานไปต่อยอดอีกจำนวน 20 ชิ้น


ที่กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองและปลูกหม่อนเลี้ยงไหมวัดศรีบุญเรือง บ้านนางัว ต.นางัว อ.นาหว้า นายชัยณรงค์ กาญจะนะกันโห พัฒนาการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน และนักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ลงพื้นที่ติดตามสนับสนุนการพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทยของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองและปลูกหม่อนเลี้ยงไหมวัดศรีบุญเรือง ซึ่งเป็น 1 ใน 6 กลุ่มที่ได้รับการพัฒนาตามโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน และส่งเสริม กระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศทุกวัยและทุกโอกาส

โดยมี นายนพดล พลคนซื่อ นายอำเภอนาหว้า นางรัชวรรณ์ ไวยากรณ์ พัฒนาการอำเภอนาหว้า เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอนาหว้า และคณะกรรมการกลุ่มฯ ร่วมให้ข้อมูลผลการดำเนินงานฯ

นายนพดล พลคนซื่อ นายอำเภอนาหว้า กล่าวว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ฉลองพระองค์และพระภูษาทรง “ผ้าลายต้นสนนารี” ซึ่งเป็นลายสร้างสรรค์ลายใหม่ของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองและปลูกหม่อนเลี้ยงไหมวัดศรีบุญเรือง บ้านนางัว ในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร ณ บ้านหนองแข้ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 เป็นผืนผ้าที่ถักทอขึ้นจากเส้นใยฝ้ายย้อมครามน้ำห้า ทอด้วยเทคนิค 4 ตะกอ ฟืมลายสร้อยพร้าว (ฟืมยีนส์)


โดยผ้าผืนดังกล่าวย้อมและถักทอโดย นางสาวจันทร์เพ็ญ วงศรียา (สมาชิกกลุ่มฯ) พระภูษาทรง ผ้าลายต้นสนนารี' จาก “นาหว้าคอลเลกชั่น” ออกแบบตัดเย็บโดย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้ก่อตั้งและนักออกแบบแบรนด์ Theatre ด้วยแรงบันดาลใจจากฉลองพระองค์ไทยประเพณีในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งมีที่มาจากเครื่องแต่งกายแบบไทยโบราณที่เรียกกันว่า 'เครื่องนุ่ง' และ 'เครื่องห่ม' เป็นวัฒนธรรมการแต่งกายแถบโลกตะวันออกที่นิยมใช้ผ้าทั้งผืนที่มีลวดลายงดงามมามัด พันผูกคล้ายผ้านุ่งและโจงกระเบน

กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองและปลูกหม่อนเลี้ยงไหมวัดศรีบุญเรืองแห่งนี้มีจำนวนสมาชิก 34 คน ได้รับการพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทยมุ่งพัฒนาให้ “นาหว้าโมเดล” เป็นต้นแบบการพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ความยั่งยืน ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน และส่งเสริม กระตุ้น ผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศทุกวัย และทุกโอกาส โดยทีมพัฒนาจากทีมที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นและผ้าไทย ลงพื้นที่ให้คำแนะนำและพัฒนา ได้แก่ การย้อมสีธรรมชาติจากพืชในพื้นถิ่น ส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย พัฒนาเส้นใยให้ได้มาตฐาน การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาลวดลายผ้าให้มีมาตรฐาน ทันสมัย โดยให้กลุ่มทอผ้าลายในพระวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา 1 ลาย (ลายนาคคล้องโซ่)




ทอผ้าลายโบราณของกลุ่มให้ปรับสีใหม่ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ 10 ลาย (ลายขอห้อยเครือ, ลายต้นสน, ลายตุ้มดอกรัก, ลายดอกแก้ว, ลายนกนางแอ่น, ลายนางเอก, ลายหมี่กงน้อย, ลายหมี่กวด, ลายหมี่ขั้นนาคหัวซ้อง, ลายหมี่เครือกาบ) และทอผ้าลายสร้างสรรค์ลายใหม่ตามที่ผู้เชี่ยวชาญออกแบบให้ 5 ลาย (ลายต้นสนนารี, ลายหมี่กงมงคล, ลายตุ้มเพชร, ลายนาหว้าศิลป์, ลายบันไดแก้ว) รวมทั้งสิ้น 16 ลาย

อีกทั้งติดตามส่งเสริมการทอผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายดอกรักราชกัญญา" และสมัครประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนกำหนดรับสมัครระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม-4 สิงหาคม 2566 และส่งเสริมกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้นำพืชและไม้ในพื้นถิ่นมาย้อมเป็นสีธรรมชาติ ใช้เส้นไหมเส้นฝ้ายธรรมชาติ ส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและรักษาสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นการพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ความเจริญอย่างยั่งยืน


นายชัยณรงค์ กาญจะนะกันโห พัฒนาการจังหวัดนครพนม ระบุว่า ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการกลุ่มงาน พัฒนาการอำเภอ นักวิชาการจังหวัดและอำเภอ เร่งติดตามส่งเสริมการทอผ้าลายพระราชทาน "ผ้าลายดอกรักราชกัญญา" และรับสมัครประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” โดยจังหวัดนครพนมมีเป้าหมายการส่งประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา" จำนวน 350 ชิ้น และงานหัตถกรรมที่นำลายพระราชทานไปต่อยอด จำนวน 20 ชิ้น ปัจจุบันมีผู้สมัครประกวดผ้าลายพระราชทานฯ มาแล้ว 56 ชิ้น และงานหัตถกรรม 19 ชิ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น