xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งคนว่ายหลายคนให้! “โตโน่” ร่วมส่งมอบเครื่องมือแพทย์ให้ รพ.นครพนม-รพ.คำม่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครพนม - โตโน ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ กับ One man and the river หนึ่งคนว่าย หลายคนให้ ว่ายน้ำข้ามสองฝั่งโขง (ไทย-ลาว) ส่งมอบเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลสองฝั่งโขง (ไทย-ลาว) มูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท


วันนี้ (18 มิ.ย.) เวลา 10.00 น. ที่โรงพยาบาลนครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานพิธีรับมอบเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับรอบแรกจากโครงการ One man and the river หนึ่งคนว่าย หลายคนให้ ว่ายน้ำข้ามสองฝั่งโขง (ไทย-ลาว) จากโตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ กับ One man and the river หนึ่งคนว่าย หลายคนให้ ว่ายน้ำข้ามสองฝั่งโขง (ไทย-ลาว) โดยมี นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม นายแพทย์ ธนสิทธิ์ ไพรพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม นายคงกริช พงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งตัวแทนประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม และหอการค้าจังหวัดนครพนม ร่วมในพิธีขอบคุณและรับมอบอุปกรณ์ในครั้งนี้

นายภาคิน คำวิลัยศักดิ์ หรือโตโน่ กล่าวว่า สำหรับการส่งมอบในครั้งนี้ เป็นการส่งมอบในรอบแรกให้แก่ทางโรงพยาบาลนครพนม และรอบที่ 2 ที่ได้มอบแก่โรงพยาบาลคำม่วน โดยมีมูลค่าของอุปกรณ์และเครื่องมือรวมทั้งสองโรงพยาบาลแล้วเกือบ 100 ล้านบาท ถึงแม้ว่ายอดเงินบริจาคที่ได้รับมีเพียง 82 ล้านบาทก็ตาม แต่ทั้งนี้แบ่งเป็นงบจัดหาอุปกรณ์ให้ รพ.นครพนม เป็นจำนวนเงินราว 60 กว่าล้านบาท ส่วนของ รพ.แขวงคำม่วน เป็นจำนวนเงินกว่า 20 ล้านบาท

“อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณบริษัทผู้แทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ต่างร่วมใจกันจัดจำหน่ายอุปกรณ์และส่วนลดในราคาพิเศษ พร้อมรับประกันในความโปร่งใสต่อการจัดซื้อจัดหา 100%” โตโน่ ภาคินกล่าว


สำหรับรายการเครื่องมือแพทย์ที่ส่งมอบแก่โรงพยาบาลจังหวัดนครพนม ในรอบแรกครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. เครื่องช่วยหายใจสำหรับเด็กชนิดความถี่สูงพร้อมชนิดควบคุมแรงดันและชนิดไม่สอดใส่ท่อ 1 เครื่อง 2. เครื่องเฝ้าติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ Monitor NIBP 1 เครื่อง
3. เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรและแรงดันพร้อมระบบหย่าเครื่องอัตโนมัติ ขนาดกลาง จำนวน 5 เครื่อง
4. เครื่องควบคุมการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ 20 เครื่อง
5. เตียงผู้ป่วย ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า 3 Motor 12 เตียง
6. เตียงผู้ป่วย ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าชนิด 4 motor ชนิดที่ชั่งน้ำหนักได้ 2 เตียง
7. เตียงผู้ป่วย ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าชนิด 4 motor จำนวน 3 เตียง
8. เตียงผู้ป่วยควบคุมด้วยรีโมตคอนโทรล พร้อมที่นอนโฟม 12 เตียง
9. เครื่องอัลตราซาวนด์หัวใจ 1 เครื่อง
10. เครื่องวัดความดันโลหิต 5 เครื่อง

โดยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์จะได้รับการติดตั้งและใช้งานที่หอผู้ป่วยหนักเด็ก (Pediatric Intensive Care) หอผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจ (Coronary care unit) หอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Strock Unit) และหมุนเวียนใช้ในหอผู้ป่วยต่างๆ


จากนั้น โตโน่ ภาคิน ได้ขึ้นอาคารสร้างใหม่ 11 ชั้นของ รพ.นครพนม ชมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับมอบ โดยทันทีที่เห็นเตียงคนไข้และอุปกรณ์เครื่องการรักษาและช่วยชีวิตถูกติดตั้งและจัดวางในสภาพพร้อมใช้งาน ทำให้โตโน่ถึงกับตะลึงและอุทานออกมาด้วยความดีใจ พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณทุกคนทั้งคุณหมอ คุณพยาบาล รวมถึงทีมงานที่ทำให้มีวันนี้ตลอดเวลา และย้ำขอบคุณคุณหมอและพยาบาลที่เสียสละอุทิศตนเพื่อรักษาผู้ป่วยตลอดมา

"หลังจากศูนย์ผ่าตัดหัวใจและสมองแห่งนี้แล้วเสร็จจะสามารถช่วยชีวิตคนไทยทั้งชาวนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงพี่น้องชาว สปป.ลาว ไม่ต้องเดินทางไปรักษาไกลอีกต่อไป” โตโน่ ภาคินกล่าว และว่า

สำหรับห้องปฎิบัติการผ่าตัด รพ.นครพนมจะใช้งบบริจาคของโครงการ "หนึ่งคนว่าย หลายคนให้" ได้ 1 ห้อง คาดว่าแล้วเสร็จในปลายปีนี้ ส่วนห้องปฏิบัติการผ่าตัดห้องที่สองจะใช้งบประมาณของรัฐฯ ต่อไป


สำหรับวันที่ 19 มิ.ย. 66 จะมีการส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์รอบที่ 2 ให้แก่โรงพยาบาลแขวงคำม่วน หลังจากที่เคยส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ในครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 พ.ค 2566 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย
1. เครื่องช่วยหายใจเด็ก ชนิด nCPAP จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องช่วยหายใจสำหรับทารกที่มีภาวะหายใจลำบาก ภาวะหยุดหายใจ หรือหลังจากถอดท่อช่วยหายใจทางหลอดลม เพื่อช่วยให้ทารกหายใจเหนื่อยน้อยลง
2. เครื่องเฝ้าติดตามสัญญาณชีพชนิดข้างเตียงผู้ป่วย Bedside Monitor ที่สามารถติดตามภาวะการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต จำนวน 5 เครื่องเพื่อติดตั้งในห้อง ICU
3. เครื่องกระตุกหัวใจ AED จำนวน 3 เครื่อง เพื่อติดตั้งในห้องฉุกเฉิน และรถกู้ชีพ
4. เครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติพร้อมขาตั้งจำนวน 12 เครื่อง เพื่อติดตามอาการคนไข้ในแผนกและวอร์ดผู้ป่วยในต่างๆ

5. เครื่องวัดความดันชนิดสอดแขนจำนวน 3 เครื่อง เพื่อใช้แผนก OPD, ผู้ป่วยฉุกเฉิน
6. เครื่องดึงคอ/ดึงหลัง (traction) จำนวน 1 เครื่อง สำหรับแผนกกายภาพบำบัดที่ปัญหาด้านกระดูกคอและสันหลัง
7. เครื่องอัลตราซาวนด์สำหรับกายภาพ จำนวน 2 เครื่อง แผนกกายภาพบำบัดเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านกล้ามเนื้อ
8. หม้อต้มแผ่นประคบร้อน จำนวน 1 เครื่อง (แผนกกายภาพบำบัด) โดยอุปกรณ์หลายอย่าง เช่น เครื่องช่วยหายใจในเด็ก และกลุ่มอุปกรณ์กายภาพทางโรงพยาบาลไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่อุปกรณ์หลายอย่าง เช่น Bedside monitor ก็ไปเสริมการทำงานในห้อง ICU ให้มีมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น