สกลนคร - เด็กสกลนครเก่ง ใช้สูตรคณิตศาสตร์ ม.ต้น ออกแบบลายพัดจักสาน สินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน ให้มีหลากสีสันสวยงาม นำโปรแกรม GSP ในคอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบ จนคว้ารางวัลด้านการออกแบบเหรียญเงินระดับประเทศ เล็งต่อยอดออกแบบกับสินค้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลงานนักเรียนระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนสกลทวาปี อ.เมือง จ.สกลนคร ที่ได้นำเทคโนโลยีกราฟิกคอมพิวเตอร์มาใช้ในการออกแบบลวดลายพัดไม้ไผ่จักสาน จนทำให้พัดจักสานนี้มีลวดลวย และสีสันที่สวยงาม สะดุดตา ทำให้พัดไม้ไผ่จักสาน สินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน กลายเป็นสินค้าที่โดดเด่นขึ้นมาทันที
พัดไม้ไผ่จักสานนี้เป็นผลงานที่เกิดจากการนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ เรื่องคู่อันดับและกราฟ และการแปลงทางเรขาคณิต โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบลวดลายของพัดสานจากไม้ไผ่ ผลงานที่เด็กหญิงจิราพรรณ ชั้นน้อย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสกลทวาปี หนึ่งในผู้จัดทำโครงงานคณิตศาสตร์ บอกเล่าด้วยความภูมิใจว่า ได้ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ แปลงสูตรมาสร้างสรรค์งานฝีมือ อย่างงานจักสาน เพื่อสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และที่สำคัญเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่นแห่งนี้ด้วย
สำหรับผลงานพัดไม้ไผ่จักสานนี้ได้จัดทำขึ้นตามโครงงานคณิตศาสตร์ชื่อ “คู่อันดับและกราฟมหัศจรรย์ สร้างพัดสานจากไม้ไผ่ ออกแบบลวดลายด้วย GSP” ที่สำคัญพัดไม้ไผ่จักสานนี้ มีความโดดเด่น จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศงานแข่งขันทักษะวิชาการ โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ปี 2565 ระดับเหรียญทอง อันดับ 5 ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคว้ารางวัลเหรียญเงิน ระดับประเทศอีกด้วย
ขณะที่นางวงเดือน วงษ์รัตนะ ครูที่ปรึกษาการจัดทำโครงงานคณิตศาสตร์ กล่าวว่า ความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่นำมาประยุกต์ใช้ในงานฝีมืออย่างการจักสาน คือวิธีเขียนคู่อันดับลายสาน ตามแนวแกน X หรือแนวตั้ง และแนวแกน Y หรือแนวนอน มีการกำหนดไว้ว่าให้เขียนคู่อันดับใดๆ เฉพาะตำแหน่งที่เส้นตอกแนวตั้งทับเส้นตอกแนวนอนเท่านั้น จึงจะเกิดลาย ส่วนตำแหน่งที่เส้นตอกแนวนอนทับเส้นตอกแนวตั้งจะไม่เกิดลายที่ต้องการ
พร้อมการแปลงทางเรขาคณิต เช่น การหมุน การสะท้อน การเลื่อนขนาน มาออกแบบให้เป็นลวดลายที่สวยงาม มีสีสันโดดเด่น เช่น ลายแก้วตาดวงใจ ลายสี่เหลี่ยมเปี่ยมสุข ลายรุ่งอรุณ และลายสี่ห้องหฤทัย อีกทั้งยังใช้สูตรคณิตศาสตร์สร้างสรรค์ลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดสกลนคร คือพระธาตุเชิงชุม ที่เป็นลายใหม่นี้ด้วย
“ในอนาคต พัดที่จักสานด้วยไม้ไผ่ ลวดลายสวยงามของโรงเรียนสกลทวาปี จังหวัดสกลนคร จะมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้น เช่น กระเป๋าถือ กระจาด ตะกร้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ สร้างงานให้เกิดแก่ชาวบ้าน ผลพลอยได้คือเด็กๆ มีเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ด้วย” นางวงเดือนกล่าว