สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือเวียน กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาหมูเถื่อน ดำเนินการตามคำขอของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ที่ขอให้ เปิดเผยรายชื่อผู้ต้องหาลักลอบนำเข้าเนื้อสุกร 161 ตู้ ที่กรมศุลกากรส่งคดีต่อไปกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายในสัปดาห์นี้
โดย สามารถ สิริรัมย์ ได้เขียนบนความเกี่ยวกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือเวียน กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาหมูเถื่อน ดำเนินการตามคำขอของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ที่ขอให้เปิดเผยรายชื่อผู้ต้องหาลักลอบนำเข้าเนื้อสุกร 161 ตู้ ที่กรมศุลกากรส่งคดีต่อไปกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายในสัปดาห์นี้ นั่นหมายความว่าเราจะเห็น “ตัวการ” ที่ขับเคลื่อนขบวนการหมูเถื่อนทำร้ายทำลายประเทศกันก็คราวนี้ คนผิดจะได้รู้ซึ้งเสียทีว่าการทำมาหากินสุจริตนั้นดีกว่าผันตัวเป็นมิจฉาชีพแน่ๆ เชื่อว่าจะอุทาหรณ์ให้คนที่กำลังจะเข้าร่วมขบวนการต้องหยุดคิด และทบทวนก่อนติดร่างแห
นั่นเป็นประเด็นหนึ่งที่สังคมสนใจและตามติดการดำเนินคดีนี้อย่างใกล้ชิด พอๆ กับอีกประเด็นที่ว่า จำนวนหมูเถื่อนที่อายัดไว้ 161 ตู้ หรือ 4.5 ล้านกิโลกรัม จากท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมานั้น ตอนนี้ดำเนินการกันถึงไหน เมื่อไหร่จะมีการทำลาย เพราะจำนวนหมูเถื่อนที่มหาศาลขนาดนี้ มหกรรมการฝังทำลายย่อมยิ่งใหญ่กว่าเมื่อครั้งทำลาย 7 แสนกิโลกรัมที่ จ.เพชรบุรี เมื่อเดือนมกราคม 2566 แน่นอน
กรณีนี้ กรมศุลกากรเคยตอบว่าการฝังทำลายเป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ เมื่อถามกรมปศุสัตว์ตอบว่าหมูเถื่อนทั้ง 161 ตู้เป็นของกลางในคดี และเป็นหลักฐานสำคัญในการเอาผิดขบวนการขนหมูเถื่อน ดังนั้น การจะนำหมูเถื่อนออกมาทำลายต้องได้รับการยินยอมจากตำรวจผู้รับผิดชอบทำคดีก่อน ... แบบนี้เกษตรกรต้องยกขบวนไปถามตำรวจสอบสวนกลางอีกหรือ?
แม้หมูเถื่อนเหล่านี้จะกลายเป็น “ของกลาง” ให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 แล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อนจึงจะนำไปทำลายได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดความสูญเสียตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้าเสียบตู้เย็น ค่าเช่าพื้นที่วางตู้ ค่าเสียโอกาสในการนำตู้กลับไปใช้ในขับเคลื่อนธุรกิจเช่าตู้ ซึ่งล้วนแต่เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น นัยว่าจนถึงป่านนี้ (มิ.ย.66) มีค่าเสียหายทางเศรษฐกิจเฉพาะค่าเช่าพื้นที่และค่าไฟฟ้าถึงกว่า 87 ล้านบาทแล้ว
ทุกวันนี้ หมูเถื่อนที่ลักลอบขายในตลาดส่วนใหญ่มีลักษณะขึ้นราแล้ว (ดังภาพที่แสดง) ซึ่งน่าจะเกิดจากการเก็บรักษามาเป็นเวลานับปี ในอุณหภูมิที่เย็นไม่พอ หากมีพ่อค้าใจร้าย ไม่มีคุณธรรม นำมาหั่นให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยหรือนำไปแปรรูปขาย คนซื้อย่อมมองไม่ออก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างมาก
แม้จะยังยืนยันไม่ได้ว่า หมูเถื่อนขึ้นราเหล่านี้เป็นหมูจากตู้ตกค้างในจำนวน 161 ตู้นี้หรือไม่ แต่เพื่อสร้างความสบายใจให้เกษตรกรและผู้บริโภค รัฐควรต้องเร่งทำลายหมูเถื่อนล็อตใหญ่ 4.5 ล้านกิโลกรัมนี้ให้เร็วที่สุด หากต้องมีค่าใช้จ่ายก็ควรต้องชี้แจงออกมาดังๆ เพื่อขอใช้งบประมาณของกระทรวงที่กำกับดูแล เพราะการปล่อยเวลาให้เนิ่นนานนั้นไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น
อีกกรณีหนึ่ง... จะเป็นไปได้หรือไม่? ที่หมูเถื่อนขึ้นราเหล่านี้จะเล็ดลอดออกจากตู้คอนเทนเนอร์ 84 ตู้ที่ขอผ่อนผัน (List F) อยู่ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง เพราะขอผ่อนผันมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยระยะเวลาผ่อนผันจะสิ้นสุดใน 15 วันเท่านั้น แต่วันนี้เลยกำหนดผ่อนผ้นมานานมากแล้ว กรมศุลกากรยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ กับตู้เหล่านี้ จึงสร้างความกังขาว่า อาจเป็นแหล่งเล็ดลอดของหมูเถื่อนขึ้นราได้ ทางที่ดีกรมฯ ควรเปิดตู้ตรวจสอบทั้งหมด พร้อมชี้แจงถึงที่มาที่ไปและดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพื่อความโปร่งใสของกรมเอง
การแก้ปัญหา ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ทั้งเรื่องตู้ตกค้าง ตู้ List F หรือการจัดการให้ตู้สินค้าแช่แข็งทั้งหมด เข้ากระบวนการตรวจสอบแบบ Red Line เป็นหน้าที่ของกรมศุลกากรที่ต้องทำควบคู่ไปกับการสกัดกั้นที่ชายแดน ตลอดจนการปิดล้อมตรวจค้นห้องเย็นเป้าหมาย ซึ่งต้องผนึกกำลังกันทั้งกรมศุลฯ กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน และตำรวจ เพื่อป้องกันไม่ให้หมูเถื่อนที่กำลังเปลี่ยนสภาพเป็นหมูขึ้นรา ออกมาอาละวาดซ้ำเติมคนไทยทั่วประเทศ พร้อมๆ กับการนั่งมองหน้า “ตัวการ” ที่กำลังจะถูกเปิดเผยโฉมหน้าออกมาเร็วๆ นี้