xs
xsm
sm
md
lg

จีนเหมาแทบเกลี้ยง“หลง-หลินลับแล”รุ่นแรก จ่อหวนซื้อยกต้นยกสวนทุเรียนรุ่นสองซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุตรดิตถ์ - ทุเรียนหลง-หลินลับแล 5 หมื่นไร่ ถูกจีนกว้านซื้อรุ่นแรกแทบเกลี้ยงกิโลฯละ 200 บาท จ่อคิวเหมาผลผลิตรุ่นสองยกต้นยกสวนซ้ำอีก ส่วนคนไทยรอชิมหน้าสวนได้ทั้งอำเภอลับแล-เทศกาลทุเรียนอุตรดิตถ์ 30 มิ.ย.- 4 ก.ค. นี้ ณ ตลาดกลางฯหัวดง


นายศศิน ดิศวนนท์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุตรดิตถ์ นำคณะสื่อมวลชนพิษณุโลก ร่วมกิจกรรม (Fam-Trip) ส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวใน"กิจกรรมมหัศจรรย์หลง-หลิน เปิดประสบการณ์ท้องถิ่น ณ เมืองท่าเหนือ"เมื่อเร็วๆนี้ ภายใต้โครงการ 1 เมืองท่องเที่ยว 1 ประสบการณ์ท้องถิ่น

โดยนั่งรถรางชมแหล่งท่องเที่ยว อาทิ พิพิธภัณฑ์เมืองลับแล ซุ้มประตูเมืองลับแล อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวนลับแล และถนนราษฎร์อุทิศ-ถนนคนกิน-ข้าวพันผักอินดี้, หมี่พันลับแล ฯลฯ และไฮไลท์ของงาน คือ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชมสวนทุเรียน”ป้าเรียน” มีทั้งลางสาด ลองกอง และทุเรียนหลงลับแล-หลินลับแล ที่ปลูกบนภูเขาสูง ของดีอำเภอลับแล ที่ทำรายได้สู่จังหวัดอุตรดิตถ์ปีละมหาศาล

เนื่องจากพื้นที่อุตรดิตถ์ มีแร่ธาตุและอากาศเหมาะสม ทำให้การปลูกทุเรียนให้ผลผลิตดี สายพันธุ์“หลงลับแล”ออกผลกลม-กลมรี มีกลิ่นอ่อน เนื้อแห้ง สีเหลือง ไม่แฉะ รสชาติหวานมัน หอม ส่วน“หลินลับแล” ลักษณะผลทรงกระบอก ยาวกว่า หลงลับแล เนื้อสีเหลืองอ่อน แห้ง ไม่แฉะ รสหวานมัน กลิ่นหอมไม่แรง ซึ่งจุดเด่นทั้งหลง-หลินลับแล คือ เมล็ดลีบ, เปลือกทุเรียนบาง

ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกทุเรียน 7 พันราย พื้นที่เพาะปลูกจำนวน 5 หมื่นไร่ โดยเฉพาะ อ.ลับแล เขตติดต่อ อ.เมืองอุตรดิตถ์ เนื่องจากเป็นภูเขาสูงและที่ลาดชัน สภาพภูมิประเทศเป็นป่าสลับซับซ้อน ดินลักษณะร่วนปนทราย-สีส้ม จนเรียกว่าแดงผาผุ พอถึงฤดูฝนน้ำไหลบ่าลงจากยอดเขา ก็พาแร่ธาตุอาหารมาใส่ต้นทุเรียน ประกอบกับอากาศเย็นและแดดไม่จัด ผลทำให้การปลูกทุเรียนตามไหล่เขาให้ผลผลิตเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

น.ส.สุกัญญา มีรัตน์ อายุ 31 ปี ทายาท“สวนป้าเรียน”กล่าวว่า ธาตุอาหารในดินเฉพาะบนภูเขาลับแล อันเป็นถิ่นกำเนิดของสายพันธุ์ ทำให้ทุเรียนหลงหลิน ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการประกวดทุเรียนของกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2520 และกลายเป็นผลไม้ขึ้นชื่อตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ซึ่งสวนทุเรียนป้าเรียนดั้งเดิมบนภูเขานั้นมีประมาณ 10 ไร่ และมีสวนในพื้นราบประมาณ 3 ไร่ ปลูกไว้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมาชิมทุเรียนจากต้น และผลไม้อื่นๆนานาชนิด มีจำหน่ายผลไม้ตามฤดูกาล ราคาปัจจุบันทุเรียนหมอนทอง 290 บาท/กก. ทุเรียนหลงลับแล 450 บาท/กก. นอกจากนี้ยังมีคาเฟ่ซัมเมอร์กรีนในสวน เปิดให้บริการตลอดทั้งปี มีทั้งกาแฟ เครื่องดื่ม, เบเกอรี่หลากผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนพร้อมของฝากที่ระลึกของอุตรดิตถ์อีกด้วย


นายมนูญ พรหมบุตร วัย 64 ปี ข้าราชบำนาญ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนอำเภอลับแล เปิดเผยว่า ตนเกษียณอายุราชการและลงทุนปลูกทุเรียนกับกลุ่มญาติพี่น้องที่อำเภอลับแล กว่าจะได้ผลผลิตไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องบำรุงต้นทุเรียนอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมาได้ปลูกต้นทุเรียน และตายไปเยอะ แต่ไม่เคยท้อและสู้ไม่ถอย ณ.วันนี้เริ่มมีผลผลิตแล้ว ปี 66 นี้ ภาพรวมหลายๆสวนที่ลับแล ถือว่า ผลผลิตออกน้อย เพราะภัยแล้งปีที่ผ่านมา ปริมาณฝนไม่เพียงพอ ชาวสวนทุเรียนหลายรายต้องขุดบ่อบาดาลช่วย จนผลผลิตจะออกรุ่นแรกพฤษภาคม-มิถุนายน และอีกรุ่น คือ ต้นเดือนกรกฎาคม กระทั่งสิงหาคมก็หมดแล้ว

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า พื้นปลูกทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์หลง-หลินลับแล เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 4 หมื่นไร่เป็น 5 หมื่นไรในปัจจุบัน เกษตรกรจาก 4 พันราย ก็เพิ่มเป็น 7 พันราย ปลูกมากที่อำเภอลับแล อ.ท่าปลาและ อ.เมืองตามเนินเขา เน้นปลูกสายพันธุ์หมอนทอง หลงลับแล หลินลับแล และชะนี

ซึ่งผลผลิตทุเรียนหลง – หลินลับแล ออกมาเมื่อใดก็เป็นที่ต้องการของคนจีน ที่ผ่านมามีนายทุนจีนกว้านซื้อทุเรียนพันธุ์ไป 1 รุ่นแล้ว โดยมีล้งหรือจุดรับซื้อขนาดใหญ่หลายแห่ง รับซื้อทุเรียนหลงลับแลไปในราคา 200 บาท ซึ่งก็ถือว่าเป็นราคาดี ที่ชาวสวนลับแลพอใจ เพราะถูกเหมาไปเป็นตันๆ ระหว่างนี้ทุนจีนจะสับเปลี่ยนไปรับซื้อผลผลิตทุเรียนยังภาคตะวันออก และจะหวนกลับมาซื้อที่ ลับแล-อุตรดิตถ์อีกครั้งในรุ่นที่สองเร็วๆนี้

ส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยสามารถแวะมาเยือนอุตรดิตถ์ ชิม ชอปถึงสวนหรือภูเขาทุเรียนนับหมื่นไร่ หรืออาจรอ”เทศกาลทุเรียนจังหวัดอุตรดิตถ์” ที่จะจัดขึ้นระหว่าง 30 มิ.ย. - 4 ก.ค.นี้ ณ ตลาดกลางผลไม้และผลิตภัณฑ์จังหวัดอุตรดิตถ์ (OTOP) เทศบาลตำบลหัวดง อำเภอลับแล ซึ่งจะมีการจำหน่ายทุเรียนหลง – หลินลับแล รวมถึงทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ขื้นชื่อของจังหวัดด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น