xs
xsm
sm
md
lg

เมืองย่าโมค้นพบฟอสซิลปลาดึกดำบรรพ์ 115 ล้านปี! ณ แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์บ้านโกรกเดือนห้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครราชสีมา - โคราชค้นพบฟอสซิลปลาพันธุ์ใหม่อายุ 115 ล้านปี พันธุ์ใหม่ของโลก ในแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ พร้อมเปิดงานมหกรรมจีโอพาร์คและฟอสซิล 2023 เฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่สู่การรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดงานมหกรรมจีโอพาร์คและฟอสซิล (Geopark and Fossil Festival 2023)
วันนี้ (8 มิ.ย.) ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี, รองศาสตราจารย์ ดร.มงคล อุดชาชน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ผศ.ดร.อานรรต ใจสำราญ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย กิจการพิเศษ และวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกันเปิดงาน มหกรรมจีโอพาร์คและฟอสซิล (Geopark and Fossil Festival 2023)

เพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญของจังหวัดนครราชสีมาที่ได้รับการพิจารณาเป็นจีโอพาร์คโลก Khorat Global Geopark จากองค์การยูเนสโก ยกระดับการทำงานเครือข่ายของอุทยานธรณีประเทศไทย การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านจีโอพาร์ค และการท่องเที่ยว Geotourism ตลอดจนประชาสัมพันธ์จีโอพาร์คประเทศไทย พร้อมทั้งพัฒนากลไก การขับเคลื่อนอุทยานธรณีในประเทศไทยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ในจังหวัดนครราชสีมาและภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การจัดงานครั้งนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน 2566 มีกิจกรรมประกอบด้วย การประชุมทางวิชาการเครือข่ายอุทยานธรณีประเทศไทย ครั้งที่ 2 ซึ่งได้รับความสนใจตอบรับร่วมงานจากนักวิจัยทั่วโลกเพื่อนำเสนอผลงานวิชาการ งานวิจัย มากถึง 82 ผลงานวิชาการ เป็นการนำเสนอรูปแบบ Oral Presentation จำนวน 52 ผลงาน และนำเสนอแบบ Poster จำนวน 30 ผลงาน






มหกรรมจีโอพาร์คและฟอสซิล 2023 มีนิทรรศการ และการแสดงสินค้าชุมชน, นิทรรศการภาคีเครือข่ายจีโอพาร์คประเทศไทย, งานสถาปนาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา, การเสวนาพิเศษ เยาวชนกับการสร้างสรรค์ในพื้นที่จีโอพาร์ค, เสวนาพิเศษ การสร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์ฟอสซิลเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก, การประกวดการแต่งกาย เชิงสร้างสรรค์ ด้วยแนวคิดจีโอพาร์คและฟอสซิล ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีการแถลงข่าว การค้นพบฟอสซิล ปลาพันธุ์ใหม่ของโลกอายุ 115 ล้านปี “โคราชเอเมีย ภัทราชันไน” และพันธุ์พืชโบราณชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิดในแหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ ที่บ้านโกรกเดือนห้า ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งการวิจัยดำเนินการโดย ผศ.ดร.อุทุมพร ดีศรี จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ, พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น, มหาวิทยาลัยเจนีวา และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์






การค้นพบครั้งนี้มีผลการวิจัยว่า ฟอสซิลปลาดังกล่าว เป็นปลากระดูกแข็งก้านครีบอ่อน คล้ายสกุลเอเมีย (Amia) แต่เป็นสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก คณะผู้วิจัยจึงได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “ปลาภัทราชัน” หรือชื่อวิทยาศาสตร์ โคราชเอเมีย ภัทราชันไน (Khoratamia phattharajani) เพื่อเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ ๙ กษัตริย์ผู้ทรงเชี่ยวชาญเรื่องปลาและรักปลา ทั้งนี้คำว่า “ภัทราชัน” มาจากคำว่า “ภัทร+ราชัน” อันหมายถึง “พระภัทรมหาราช” ที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญานามแด่รัชกาลที่ ๙


กำลังโหลดความคิดเห็น