ประจวบคีรีขันธ์ - ผู้ว่าฯ ประจวบฯ ประสานฝนหลวงเร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง พร้อมอนุมัติเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งลงพื้นที่ดูสถานการณ์น้ำที่อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม ต.หนองพลับ อ.หัวหิน เขื่อนปราณบุรี อ.ปราณบุรี และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรชาวสวนมะม่วง อ.สามร้อยยอด
วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์แก้ไขภัยแล้งจังหวัดประจวบฯ ประชุมเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตภัยแล้งในทุกพื้นที่ภายในจังหวัดประจวบฯ มี นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน นายอนิรุจน์ อัครพงศ์ตระกูล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งลงพื้นที่ดูสถานการณ์น้ำที่อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม ต.หนองพลับ อ.หัวหิน เขื่อนปราณบุรี อ.ปราณบุรี และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรชาวสวนมะม่วง อ.สามร้อยยอด
นายเสถียร เจริญเหรียญ กล่าวว่า ขณะนี้ จ.ประจวบฯ ประสบกับสถานการณ์ภัยแล้ง เนื่องจากฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทั้งๆ ที่กรมอุตุฯ ประกาศว่าเข้าหน้าฝนเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการพยากรณ์อากาศว่าจะเกิดฝนตกแต่ฝนตกลงมาน้อยมาก สภาพภัยแล้งที่เกิดขึ้นช่วงสงกรานต์ในบางพื้นที่เลยมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ที่มีเหตุเหตุการณ์ภัยแล้งนี้ขึ้น พยายามที่จะดำเนินการในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการหาแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคให้การประปาในพื้นที่ต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ อ.บางสะพาน อ.ทับสะแก และ อ.หัวหิน ซึ่งเราพยายามดำเนินการในหลายเรื่อง
สำหรับในวันนี้ได้มาเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน พบว่า ทางฝนหลวงได้มีการดำเนินการบินขึ้นในหลายพื้นที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประสบผลเป็นที่พอใจในระดับหนึ่ง ซึ่งจังหวัดประจวบฯ มีสภาพปัญหาหลายด้าน ทั้งสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ ซึ่งในสภาพอากาศนี้จะต้องดูในเรื่องของความชื้นในเรื่องของความเร็วลมซึ่งได้มีการขึ้นไปปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องหลายวัน แต่ปรากฏว่าในบางครั้งความเร็วลมพัดทำให้ฝนไปตกที่อื่น อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อจำกัด เพราะ จ.ประจวบฯ เราเป็นพื้นที่ยาว ทางทิศตะวันตกเป็นภูเขา การที่จะทำให้ฝนตกในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำจริงๆ เป็นเรื่องยากเหมือนกัน
นอกจากในเรื่องของการปฏิบัติการทางด้านฝนหลวงในพื้นที่ขาดแคลนไม่ว่าจะเป็นท่านนายอำเภอ หรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพยายามที่จะหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม และอีกสิ่งหนึ่งคือเราใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านท้องถิ่นที่เรียกว่า "บอม" คือไปขุดพวงตามลำน้ำแหล่งน้ำต่างๆ ให้ลึกลงไปประมาณ 1-2 เมตร เพื่อให้น้ำซึมขึ้นมา อย่างเช่นที่ อ.บางสะพาน ได้มีการสูบจากที่สะพานวังยาวขึ้นไปที่การประปาภูมิภาค เพื่อใช้เป็นน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค อาศัยเครื่องมือของทางศูนย์ ปภ.เขต 4 ประจวบฯ เครื่องสูบน้ำระยะไกล
สำหรับในพื้นที่เกษตรกรรม ถ้าหากมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้วจะเข้าหลักเกณฑ์ของทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะมีการประกาศให้ค่าชดเชยตามกฎระเบียบต่อไป และเป็นเรื่องที่น่ายินดีเรื่องหนึ่ง ในขณะนี้ทราบว่ามีแหล่งน้ำของทางเอกชนที่ปัจจุบันยังเหลืออยู่ มีการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลให้ประชาชนในบางส่วน อันนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีของชาวจังหวัดประจวบฯ เวลาเราลำบากจะมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทางจังหวัด ทางอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามอย่างยิ่งที่จะให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องประชาชน เพื่อผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้ง แต่อย่างไรก็ตามหวังว่าฝนอาจจะตกในช่วงไม่กี่วันนี้
“ทั้งนี้ ฝากการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เนื่องจากการพยากรณ์อากาศต่างๆ ว่าอาจจะประสบภัยแล้งมากยิ่งขึ้น เพราะที่คุยกับทางฝนหลวงช่วงนี้เป็นช่วงปรากฏการณ์ "ลานีญา" ขาลง จากนั้นจะเป็นช่วง "เอลนีโญ" ช่วงเอลนีโญนี้เป็นช่วงที่แห้งแล้งมาก เพราะฉะนั้นถ้ากรณีที่ฝนจะตกในช่วงถัดไปที่เป็นหน้าฝน อยากจะให้ประชาชนเตรียมภาชนะเตรียมแหล่งน้ำต่างๆ ถ้ามีสระน้ำในบ้านอยากจะมีการขุดลอกเพื่อรองรับปริมาณน้ำไว้ใช้ ช่วงที่จะขาดแคลนน้ำที่คาดว่าจะเป็นตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งได้กำชับส่วนราชการต่างๆ ให้เร่งดำเนินการขุดลอกสระเก็บน้ำอ่างเก็บน้ำ หนองน้ำต่างๆ เพื่อรองรับในส่วนนี้ อีกเรื่องคืออยากจะรณรงค์ให้สถานประกอบการต่างๆ รวมทั้งพี่น้องประชาชนให้เราใช้น้ำกันอย่างประหยัด ใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นครับ
นายอนิรุจน์ อัครพงศ์ตระกูล กล่าวว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าวิกฤตจริงๆ โดยเฉพาะระดับน้ำเขื่อนปราณบุรี ปริมาณน้ำมีแค่ 14-15% ในส่วนของปฏิบัติการเราพยายามเร่งที่จะเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อน เข้าใจว่าในบางพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทานของเขื่อนปราณบุรีเกิดวิกฤตในช่วงของท้ายน้ำ ก่อนหน้านี้เรามีการประชุมในส่วนของพื้นที่ขอรับบริการน้ำจากเขื่อนปราณบุรี เกษตรกรที่อยู่ท้ายน้ำก็เกิดปัญหาเหมือนกัน เขาแจ้งมาว่าน้ำมาไม่ถึง น้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนปราณบุรีค่อนข้างน้อย ทำให้การสูบน้ำมีความเค็มของน้ำ ทำให้ไม่เหมาะกับการเพาะปลูก
เพราะฉะนั้นทางส่วนของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงหัวหินจะเร่งในการเติมน้ำเขื่อนให้มาก เพราะว่าเข้าใจในพื้นที่มีความต้องการน้ำเพื่อเพาะปลูกการเกษตรจริงๆ และพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่นอกเขตด้วย เราพยายามทำเต็มศักยภาพของเรา ยืนยันได้เลยว่าในส่วนของการบริการฝนหลวงหัวหินยังทำอย่างต่อเนื่อง และจะเร่งให้ในทุกส่วนของภาคเกษตร และการเติมน้ำเขื่อนด้วย
ขณะที่ศูนย์ ปภ.เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ จัดส่งรถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล พร้อมเจ้าหน้าที่เข้าทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาของ อบต.กำเนิดนพคุณ (จุดที่ 1) หมู่ที่ 6 บ.ดอนทอง ต.กำเนิดนพคุณ อ.บางสะพาน เนื่องจากน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาไม่เพียงพอและลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค มีแผนสูบน้ำ 10 วัน คาดว่าจะมีน้ำใช้อย่างต่อเนื่อง 1 เดือน
ทั้งนี้ จ.ประจวบฯ ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีภัยแล้ง ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.หัวหิน และ อ.บางสะพาน รวม 8 ตำบล 80 หมู่บ้าน/ชุมชน 13,777 ครัวเรือน ประชาชน 33,110 คน ด้านการเกษตร พืชไร่ พืชผัก พืชสวน จำนวน 5,559 ไร่ อยู่ระหว่างการขอประกาศเพิ่มในพื้นที่อำเภอหัวหิน ที่ตำบลบึงนคร 12 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน (อุปโภคบริโภค) 2,400 ครัวเรือน 5,068 และอำเภอบางสะพาน ขาดแคลนน้ำการเกษตร 3 ตำบล คือ
1.ตำบลกำเนิดนพคุณ 2 หมู่บ้าน (หมู่ที่ 3, 4) 2.ตำบลธงชัย 7 หมู่บ้าน 3.ตำบลชัยเกษม 8 หมู่บ้าน ประชาชนเดือดร้อน 65 ครัวเรือน 197 คน พื้นที่การเกษตร รวม 277 ไร่ (พืชไร่ 9 ไร่ พืชสวน 253 ไร่ ไม้ยืนต้น 15 ไร่) มูลค่าความเสียหายและผลกระทบอยู่ระหว่างประเมิน ขณะที่การประชุมล่าสุด (6 มิ.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ เป็นประธาน ในที่ประชุมมีมติอนุมัติเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณีภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.66 เป็นต้นมา ในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 176 ราย วงเงินช่วยเหลือ 1,316,546 บาท