xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันการแพทย์แผนไทยนำร่องอบรมโภชนศาสตร์ในภูมิปัญญาไทยให้ร้านอาหารเมืองเพชร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพชรบุรี - สถาบันการแพทย์แผนไทย นำร่องอบรมโภชนศาสตร์ในภูมิปัญญาไทย ให้ 40 ผู้ประกอบการร้านอาหารเมืองเพชร หลังพบพฤติกรรมบริโภคของคนไทย ชอบอาหารไขมัน แปรรูป เครื่องดื่มเติมน้ำตาล เสี่ยงโรค NCDs พุ่ง สร้างปัญหาสุขภาพระยะยาว

วันนี้ (1 เม.ย.) ที่บ้านครัวหมอฉัตร อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี จัดให้มีการอบรมหลักสูตรโภชนศาสตร์ในภูมิปัญญาไทย และมอบนโยบายตามโครงการจัดการความรู้แผนอาหารสุขภาวะเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านอาหาร และขยายผลการดำเนินงานผ่านสื่อสารสาธารณะ (โครงการฯ) โดยมีนายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นประธานเปิดอบรม

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาโรคเรื้อรัง (Noncommunicable disease : NCDs) นับเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก โดยในปี 2562 พบผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดและเส้นเลือดตีบ ทำให้สูญเสียปีสุขภาวะร้อยละ 7.19 และ5.65 ตามลำดับ ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากภาวะน้ำหนักเกิน และไขมันในเลือดสูง อันเกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันและแก้ไขได้ เช่น การดำเนินวิถีชีวิตที่ไม่สมดุล การบริโภคอาหารเกินความต้องการของร่างกาย การขาดการออกกำลังกาย คนไทยเกินครึ่งกินผักไม่เพียงพอ ซ้ำยังมีแนวโน้มบริโภคน้ำตาล และไขมันสูงขึ้นเรื่อยๆ
 
จากข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย ในปี 2564 พบว่า 3-7 วัน/สัปดาห์ บริโภคอาหารไขมันสูงถึงร้อยละ 42 รองลงมา คืออาหารแปรรูป ร้อยละ 39 และเครื่องดึ่มเติมน้ำตาลบรรจุขวดที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 34 ทั้งยังนิยมกินอาหารนอกบ้านเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 56 ครั้ง/เดือน ส่งผลต่อสุขภาพในอนาคต เสี่ยงต่อการป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในระยะยาว เนื่องจากคนไทยส่วนมากยังขาดความรู้ในการกินอาหารที่นำไปสู่การมีภาวะโภชนาการและสุขอนามัยที่ดี
 
สถาบันการแพทย์แผนไทย ภายใต้การสนับสนุนของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. จัดอบรมหลักสูตรโภชนศาสตร์ในภูมิปัญญาไทย ให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร 40 ราย ระหว่างวันที่ 1-2 มิ.ย.2566 ที่ห้องประชุมครัวหมอฉัตร อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการร้านอาหาร ให้สามารถพัฒนาเมนูอาหารไทยเพื่อสุขภาพจากสมุนไพร ช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงเมนูอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้มากขึ้น
 
รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวอีกว่า การนำอาหารไทย และสมุนไพรไทยมาประยุกต์ให้ “อาหารเป็นยา” ที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ จะเป็นการรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งส่งเสริมโภชนาการอาหารไทยเพื่อสุขภาพ ให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนัก รับรู้ว่า “อาหารไทยมีค่าดุจตำรับยาไทย” และได้เรียนรู้วิธีการทำอาหารไทยที่ถูกต้อง เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กิจการอาหารไทย และผลิตภัณฑ์อาหารอีกทางหนึ่ง








กำลังโหลดความคิดเห็น