ชัยนาท - ชัยนาทชวนเที่ยวงาน “115 ปี เสด็จประพาสต้น วัดทรงเสวย ร.ศ.127” ชมแสงสีเสียงสื่อผสม ย้อนรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “ในหลวงรัชกาลที่ 5”
วันนี้ (23 พ.ค.) ที่วัดทรงเสวย อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท พระครูปลัดสุวัฒนพรหมวิหารคุณ เจ้าอาวาสวัดทรงเสวย พร้อมด้วยนายนที มนตริวัต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เป็นประธานในงานแถลงข่าวการจัดงาน “115 ปี เสด็จประพาสต้น วัดทรงเสวย ร.ศ.127” ที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นมาประทับที่วัดทรงเสวยในปี ร.ศ.127 และเพื่อสมโภชปีแห่งการพระราชทานนามวัดทรงเสวย ครบ 115 ปี โดยกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 3-5 มิถุนายน 2566 ณ วัดทรงเสวย จ.ชัยนาท
ภายในงานชมการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสมมิวสิคัล เรื่องย้อนรอย 115 ปี เสด็จประพาสต้น วัดทรงเสวย ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยและการละเล่นพื้นบ้าน ชมนิทรรศการเรื่องราว ภาพถ่าย สิ่งของเครื่องใช้ชาววังสมัยโบราณ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 5 ชมการแสดงลิเกคณะกุ้ง สุธิราช วงศ์เทวัญ สนุกสนานกับศิลปวัฒนธรรม รำวงย้อนยุค และเลือกซื้อเลือกชมสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนในตลาดชุมชนบ้านหนองแค นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตวิธีการทำน้ำพริกปลามัจฉะ เมนูอาหารที่ชาวบ้านนำไปถวายในหลวงรัชกาลที่ 5 เสวย เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้น จนกลายเป็นที่มาของชื่อวัดทรงเสวย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2451 (ร.ศ.127) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินตรวจสอบลำน้ำเก่าโดยทางรถไฟถึง จ.นครสวรรค์ แล้วเสด็จประทับเรือพระที่นั่งครุฑเหิรเห็จ เพื่อตรวจลำแม่น้ำมะขามเฒ่า หรือแม่น้ำท่าจีนในปัจจุบัน ทรงประทับแรมที่วัดหัวหาด อ.มโนรมย์ ปัจจุบัน เรียกวัดนี้ว่าวัดพิกุลงาม นับเป็นการเสด็จเมืองชัยนาท เป็นครั้งที่ 3 ต่อจากนั้น วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2451 เสด็จพระราชดำเนินตามลำน้ำมะขามเฒ่า ผ่านตลาดวัดสิงห์ พระองค์ทรงประทับแรม ณ บ้านหนองแค อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท
โดยในครั้งนั้น พระอธิการคล้อย เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองแค ได้ชักชวนราษฎรสร้างพลับพลาที่ประทับเพื่อรับเสด็จ พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์เสวยยอดหวายโปง นายแป้น มรรคนายกวัด จึงให้ชาวบ้านไปหายอดหวายโปงนำมาเผาไฟ และนำหยวกกล้วยต้ม และทำน้ำพริกปลาร้า หรือน้ำพริกมัจฉะมาถวาย พระองค์ทรงเสวยอย่างเจริญพระกระยาหาร และตรัสกับชาวบ้านว่า ต่อไปนี้ให้เรียกวัดนี้ว่า วัดเสวย แต่ชาวบ้านได้ขอพระราชทานขอเติมคำว่า “ทรง” ไปด้วย พระองค์ทรงพระอนุญาต ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดทรงเสวย” จนทุกวันนี้ นอกจากนี้ ยังพระราชทานชื่อน้ำพริกปลาร้า ที่ชาวบ้านนำไปถวายให้ชื่อเป็น น้ำพริกปลามัจฉะแทน และพระราชทานตำแหน่งหมื่นสมานขุนมาส ให้นายแป้น มรรคนายกวัดในขณะนั้นด้วย จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้