xs
xsm
sm
md
lg

“S.M.C การโยธา” ทุ่ม 27 ล้าน ผุดโรงงานผลิตยางแอสฟัลติกคอนกรีต ที่น้ำโสม จ.อุดรธานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โรงงาน S.M.C การโยธา บ้านผากลางนา ต.สามัคคี อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี
อุดรธานี - เอส.เอ็ม.ซี การโยธา ทุ่ม 27 ล้านบาท เปิดโรงงานผลิตยางแอสฟัลติกคอนกรีต ที่อำเภอน้ำโสม จ.อุดรธานี โชว์เทคโนโลยีทันสมัยของ NIKKO ประเทศญี่ปุ่น ผู้ผลิตยางมะตอยคุณภาพสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชูกลยุทธ์ร่วมงานกับภาครัฐ และ อปท.สร้างซ่อมถนน สร้างความเจริญในพื้นที่


เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงงาน S.M.C การโยธา บ้านผากลางนา ต.สามัคคี อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี มีพิธีเปิดโรงงานอย่างเป็นทางการ ประกอบพิธีสงฆ์และเจิมป้ายเปิดโรงงาน S.M.C โดยมีพระราชวชิรธรรมากร วิ. หรือหลวงพ่อคำสด อรุโณ เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านเพิ่ม เป็นประธานสงฆ์ และมีนายจิระศักดิ์ โยธา นายอำเภอนายูง นายคณพศ พิมโคตร นายอำเภอน้ำโสม ผู้แทนจากกรมทางหลวง ทางหลวงชนบท ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่และใกล้เคียง รวมทั้งกลุ่มสมาชิก BNIIconUdonthani ร่วมแสดงความยินดี

สำหรับโรงงาน S.M.C การโยธา เป็นผู้ผลิตยางมะตอย ดำเนินงานโดย หจก.เอส.เอ็ม.ซี การโยธา มีนายธนวรรธน์ ชูตระกูล เป็นผู้บริหารโรงงาน S.M.C การโยธา เป็นแพลนต์ผสมยางมะตอย ของบริษัท NIKKO ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยางมะตอยที่ใช้ในงานสนามบินและถนนทางด่วน อันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยมานานกว่า 100 ปี มีกระบวนการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ ผลิตยางมะตอยคุณภาพสูงมีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีนายโทโทมิ นาคายาม่า กก.ผจก. NIKKO ประเทศญี่ปุ่น เดินทางมาร่วมพิธีเปิดด้วย

นายธนวรรธน์ ชูตระกูล หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.เอส.เอ็ม.ซี การโยธา กล่าวว่า S.M.C การโยธาทำรับเหมาก่อสร้างถนนลาดยาง ถนนคอนกรีต ซ่อมแซมเพิ่มความแข็งแรงโครงสร้างถนน มีโรงงานผลิตแอสฟัลติกคอนกรีต อยู่ที่ ต.เวียงคำ อ.กุมภวาปี และมีอายุการใช้งานมากแล้ว การลงทุนที่นี่ได้ใช้เงินลงทุนเบื้องต้นลงทุนไปกว่า 27 ล้านบาท เป็นการขยายโรงงาน




ศักยภาพของโรงงานสามารถรีไซเคิลยางมะตอยเก่า ถนนลาดยางที่หมดอายุการใช้งาน จะนำกลับเข้ามาทำใหม่อีกครั้งที่โรงงาน เพื่อให้มีสภาพใช้งานได้ดีเหมือนเดิม โดย S.M.C การโยธา แห่งนี้เป็นเทคโนโลยีของนิกโก้ ประเทศญี่ปุ่น ที่เลือกเพราะมีชื่อเสียงความคงทนถาวร เรื่องประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นโรงงานที่ทันสมัยของญี่ปุ่น

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า พื้นที่แห่งนี้มีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมคือ วัด ถนนหนทางยังไม่ได้รับการพัฒนา น่าจะมีโรงงานที่นี่ และมีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งมาร่วมพูดคุยและช่วยผลักดันเอางบประมาณมาพัฒนา การเข้ามาลงทุนทำโรงงานเพื่อต้องการพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ เป็นการขยายสาขา โดยปกติแล้วระยะขนส่งจะไม่เกิน 110 กม. เป็นรัศมีที่บริการได้ เพราะอุณหภูมิจะเย็นระดับลง




ปัจจุบัน ตนรับงานจากภาครัฐ ทั้งกรมทางหลวง ทางหลวงชนบท ชลประทาน อบต. เทศบาล ซึ่งจะมีคู่แข่งอยู่ แต่เราเน้นคุณภาพและการบริการ สำหรับโรงงานแห่งนี้จะมีการพัฒนาเพิ่มเติมอีก ส่วนปัญหาเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 โรงงานจะมีฟิลเตอร์กรองฝุ่นที่จะปล่อยออกจากโรงงานจากการเผา ดักฝุ่นได้ค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน ในพื้นที่โดยรอบการขนวัตถุดิบเข้ามาจะดูแลเรื่องนี้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น