ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - นักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ศึกษาการปลูกฟ้าทะลายโจรด้วยแสง LED ตั้งเป้าช่วยเกษตรกรปรับปรุงการปลูกเพื่อเพิ่มสารออกฤทธิ์ทางยา พร้อมใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์พบการปลูกด้วยแสงสีแดงให้สารสำคัญมากกว่าการปลูกด้วยแสงแดดประมาณ 2 เท่า
วันนี้ (15 มี.ค.) ดร.นิชาดา เจียรนัยกูร นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมาธิการกระทรวง อว. ไปยัง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เมื่อเดือนกันยายน ปี 2564 ซึ่งได้รับการส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจร และช่วงเวลาดังกล่าวมีการระบาดของโควิด-19 จึงพยายามปรับปรุงการปลูกให้ฟ้าทะลายโจรผลิตสารสำคัญได้เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปผลิตเป็นยา โดยฟ้าทะลายโจรมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ ที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดไข้ ลดอาการหวัด ไอ เจ็บคอ
เกษตรกรในพื้นที่พยายามปรับปรุงการปลูกฟ้าทะลายโจรทั้งเรื่องดินและน้ำแต่ยังไม่มีใครทำเรื่องแสงซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการเจริญเติบโตของพืช เราจึงได้นำเสนอแก่คณะกรรมาธิการกระทรวง อว. เรื่องการทดลองใช้แสง LED ปลูกฟ้าทะลายโจร เนื่องจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเคยมีงานวิจัยที่ทำการทดลองปลูกผักสลัดและพืชสมุนไพรด้วยหลอด LED และได้ผลดีมาก โดยสามารถเพิ่มน้ำหนักของผักสลัดและได้สมุนไพรที่มีกลิ่นหอมมากกว่าการปลูกด้วยแสงธรรมดา เราจึงวิจัยว่าจะสามารถเพิ่มสารสำคัญให้ฟ้าทะลายโจรจากการปลูกด้วยหลอด LED หรือไม่
ดร.นิชาดากล่าวต่อว่า จากการวิจัยที่พบว่าคลอโรฟิลด์ที่พืชใช้สังเคราะห์แสงจะดูดกลืนแสงสีแดงและสีน้ำเงินมากที่สุด นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจึงนำมาเป็นหลักการปรับการให้แสงแก่ฟ้าทะลายโจรที่แตกต่างกันใน 3 สภาวะ คือ ให้แสงสีน้ำเงินมากกว่าแสงสีแดง 2 เท่า ให้แสงสีน้ำเงินและแสงสีแดงเท่ากัน และให้แสงสีแดงมากกว่าแสงสีน้ำเงิน 2 เท่า เพื่อดูว่าอัตราส่วนไหนที่จะสามารถสร้างเสริมการออกฤทธิ์สารสำคัญได้
ผลการทดลองปลูกเป็นระยะเวลา 2-3 เดือน พบว่าหากให้แสงสีแดงเท่ากับแสงสีน้ำเงินหรือแสงสีแดงมากกว่าแสงสีน้ำเงิน ฟ้าทะลายโจรจะผลิตสารออกฤทธิ์สำคัญได้มากกว่าสภาวะการปลูกโดยใช้แสงธรรมชาติ ประมาณ 2 เท่า โดยส่วนที่ให้สาระสำคัญมากที่สุดคือส่วนใบ
ทั้งนี้ นักวิจัยได้ใช้แสงซินโครตรอนย่านอินฟราเรดวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ในฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีข้อดีตรงที่สามารถนำฟ้าทะลายโจรที่อบแห้งและบดเป็นผงแล้วมาวิเคราะห์หาสารสำคัญได้เลยโดยไม่ต้องใช้สารเคมีในการสกัดเอาสารสำคัญออกมาเหมือนวิเคราะห์ด้วยห้องปฏิบัติการทั่วไป ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการวิเคราะห์หาสารสำคัญ และลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก
หลังจากนี้ ดร.นิชาดาจะศึกษาการให้แสง LED เสริมแก่ฟ้าทะลายโจรในช่วงไม่มีแสงแดด เพื่อหาระยะเวลาการแสงเสริมที่เหมาะสมเพื่อให้พืชสร้างสารสำคัญได้ และจะทดลองปรับวิธีการปลูกและการให้แสงที่สามารถลดต้นทุนแต่ได้สารสำคัญเพิ่มขึ้น เพื่อถ่ายทอดแก่เกษตรกรต่อไป