xs
xsm
sm
md
lg

ทึ่ง! เครื่องคั่วกาแฟจากหม้อสเตนเลสฝีมือชาวอุดรฯ คั่วแล้วได้รสชาติไม่แพ้แบรนด์ดัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุดรธานี - เห็นแล้วทึ่ง! ฝีมือเกษตรกรชาวอุดร คิดค้นประดิษฐ์เครื่องคั่วกาแฟจากหม้อสเตนเลส เป็นทางเลือกให้ผู้ผลิตและร้านขายกาแฟที่มีทุนน้อยได้ใช้เครื่องคั่วราคาถูกแต่ประสิทธิภาพการคั่วไม่เป็นรองเครื่องคั่วแบรนด์ชั้นนำ
คั่วแล้วรสชาติอร่อยไม่แพ้กาแฟยี่ห้อดัง สร้างรายได้ให้เจ้าตัวร่วม 1.6 ล้านบาทต่อปี



หากกล่าวถึงวัฒนธรรมของการดื่มกาแฟ เครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลก โดยการดื่มของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันออกไป ตามลักษณะพื้นเพของการดำเนินชีวิตและต่างก็พูดกันว่ากาแฟที่นั่นที่นี่รสชาติอร่อย แต่จะมีใครสักกี่คนจะรู้ว่าตั้งแต่การปลูกจนถึงกรรมวิธีการแปรรูปมันไม่ง่ายเหมือนพูด

“บ้านนาเมืองไทย” อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี ชาวบ้านที่นี่ได้มีการรวมกลุ่มกันปลูกกาแฟ พื้นที่กว่า 300 ไร่ ได้ผลผลิตส่งออกตลาด ทำรายได้ให้เกษตรกร สร้างงานสร้างอาชีพทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่วนกรรมวิธีการปลูกและแปรรูป ทำให้รสชาติกาแฟกลมกล่อมลงตัวไม่แพ้แบรนด์ชั้นนำเช่นกัน

นายถนัดจิตร ใดจุดโน หรือดอย หนึ่งในเกษตรกรเจ้าของสวนกาแฟ บ้านนาเมืองไทย เล่าว่า ย้อนกลับไป 10 ปี ตนปลูกยางพาราตามกระแสที่เห่อปลูกกันมากในห้วงนั้น แต่ทุกปีที่เจอคือปัญหาราคายางตกต่ำและไม่แน่นอน จึงหันมาปลูกกาแฟแทน โดยปลูกมาแล้ว 9 ปี ผลผลิตที่ได้ก็ส่งโรงงานทั้งหมด อย่างไรก็ตาม 3 ปีที่ผ่านมาได้ลองผิดลองถูกที่จะทำการผลิตกาแฟให้ครบวงจรตั้งแต่ปลูก แปรรูป และจำหน่าย จนกระทั่งประสบความสำเร็จได้รับมาตรฐาน GAP มกษ.


ส่วนกระบวนการปลูก การเก็บเกี่ยวก็คล้ายกับที่อื่น แต่ในส่วนของตนจะประยุกต์แตกต่างจากที่อื่นคือเครื่องคั่วกาแฟที่คิดค้นผลิตขึ้นเอง ราคาไม่สูง คุณภาพของเมล็ดกาแฟที่ได้ไม่ต่างจากแบรนด์ดังตามท้องตลาด

อุปกรณ์ในการคั่วกาแฟ ตนคิดประดิษฐ์ขึ้นใช้เองทำมาจากหม้อหุงข้าวสเตนเลสเก่า โอ่งมังกร โดยใช้ได้ทั้งเตาถ่านและเตาแก๊ส สามารถคั่วกาแฟได้ 2-3 กิโลกรัมต่อครั้ง คำนวณแล้วใช้เงินลงทุนประมาณ 900 บาทในการผลิตเครื่องคั่วเมล็ดกาแฟ

การคั่วกาแฟด้วยเครื่องคั่วดังกล่าวสามารถคั่วได้ทั้ง 4 ระดับ คือ อ่อน กลาง กลางค่อนเข้ม และคั่วเข้ม ขณะที่การจำหน่ายเมล็ดกาแฟนั้นหากเป็นกาแฟสาร จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 95 บาท หากเป็นกาแฟที่คั่วแล้วจะจำหน่ายกิโลกรัมละ 500-600 บาท นอกจากนี้ยังมีกาแฟคั่วบรรจุถุงจำหน่ายอีกด้วย ส่วนเทคนิคในการคั่วกาแฟให้ได้รสชาติและกลิ่นตามที่ต้องการนั้นสังเกตได้จากกลิ่นและเสียงแตกเมล็ดของเมล็ดกาแฟ แต่หากมีเสียงรอบข้างรบกวนมากก็ให้สังเกตที่สีและกลิ่นของเมล็ดกาแฟแทน




นายถนัดจิตรกล่าวอีกว่า กาแฟที่ปลูกนั้นส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โรบัสตา และอะราบิกา เครื่องคั่วกาแฟแบบนี้เพื่อนเกษตรกรยังไม่เริ่มใช้กัน ตนเป็นผู้ริเริ่มนำร่องเท่านั้น รสชาติของกาแฟที่ออกมาได้รับผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี หลายคนซื้อไปแล้วกลับมาซื้ออีก อนาคตคาดหวังว่าเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ใช้เครื่องนี้ผลิตคั่วกาแฟทำกินเองในครัวเรือนและต่อยอดให้คนอื่นใช้ต่อไป

นายถนัดจิตรบอกอีกว่าตอนนี้ได้มีการตั้งกลุ่มชื่อ “กลุ่มผู้ปลูกกาแฟอินทรีย์เกษตรผสมผสานเพื่อแปรรูป” มีสมาชิกรวมกลุ่มได้ 30 คน ปลูกกาแฟกว่า 300 ไร่ กาแฟที่กลุ่มเราปลูกนั้นได้มาตรฐาน GAP และถือว่าเป็นเจ้าแรกของภาคอีสาน ส่วนตัวแล้วมองอนาคตว่าตลาดกาแฟยังไปได้ดี ที่สำคัญกาแฟไม่พอค่อความต้องการของผู้บริโภค สำหรับธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟของตน สร้างเม็ดเงินได้ประมาณ 1.6 ล้านบาทต่อปี ใครที่สนใจศึกษาเรียนรู้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เพจ “กาแฟน้ำโสม namsomcoffee”


ด้านนายธนเดช สิงหัษฐิต ลูกค้าที่ได้ลิ้มลองรสกาแฟที่ได้จากการคั่วของเครื่องคั่วฝีมือของนายถนัดจิตร เปิดเผยว่า เมื่อได้ชิมรสชาติของกาแฟแล้วส่วนตัวรู้สึกว่าอร่อย รสชาติเหมือนกับกาแฟแบรนด์ดัง ยิ่งเห็นกรรมวิธีการคั่วเมล็ดกาแฟแล้วรู้สึกน่าทึ่งมาก ไม่ต้องพึ่งเครื่องคั่วกาแฟราคาหลักแสน ต้องยอมรับฝีมือคนอุดรธานีที่ทำออกมาได้ดีแบบนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น