xs
xsm
sm
md
lg

แล้งหนักทำสวนทุเรียนเมืองตราดไม่มีน้ำดูแลผลผลิต ร้องหน่วยงานรัฐจัดฝนหลวงช่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตราด - แล้งหนักทำชาวสวนทุเรียนเมืองตราดเดือดร้อนหลังฝนทิ้งช่วงนาน 5 เดือน บ่อน้ำในสวน แหล่งน้ำกลางแห้งจนไม่มีน้ำให้ดูแลผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาด ร้องหน่วยงานรัฐจัดฝนหลวงช่วย ด้าน อบต.เร่งหาน้ำเอกชน ขุดบ่อดาลประคองต้นทุเรียนไม่ให้ตาย

วันนี้ (15 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด ว่ากำลังได้รับความเดือนร้อนจากภาวะฝนทิ้งช่วงนานกว่า 5 เดือน จนทำให้สระน้ำหมู่บ้านและบ่อน้ำของเกษตรกรระดับน้ำลดลงอย่างน่าใจหาย และเชื่อว่าจะเหลือปริมาณน้ำใช้ได้อีกไม่ถึง 1 เดือน หากไม่มีฝนตกลงมา

และยังหวั่นว่าผลทางการเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนที่กำลังจะตัดขายได้ในช่วงปลายเดือนจะได้รับความเสียหายอย่างหนัก

หลังรับแจ้งจึงเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยพบว่าขณะนี้เกษตรกรหลายรายในเขตบ้านคันนา ต.ห้วงน้ำขาว ต้องลงทุนว่าจ้างรถขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อหาแหล่งน้ำบรรเทาความเดือนร้อน เนื่องจากน้ำในสระของแต่ละสวนเหลือน้อยมาก ขณะที่บางสวนน้ำที่มีเหลือน้อยจนไม่สามารถสูบขึ้นมารดสวนทุเรียนได้ บางสวนไม่มีตาน้ำบาดาล ต้องลงทุนซื้อน้ำจากเอกชนเข้ามาใช้เพื่อรักษาลูกทุเรียนไม่ให้ขาดน้ำ


นางวารี แจ้งแสง อายุ 72 ปี เกษตรกรสวนทุเรียน ในพื้นที่ ม.4 ต.ห้วงน้ำขาว บอกว่าในปีนี้ภัยแล้งในพื้นที่ค่อนข้างรุนแรงเพราะฝนทิ้งช่วงนานจนเสี่ยงต่อการที่สวนทุเรียนจะขาดน้ำ และหนทางเดียวที่จะช่วยไม่ให้ลูกทุเรียนเสียหายคือ การเจาะน้ำบาดาล ซึ่งตนเองต้องใช้เงินลงทุนกว่าแสนบาท 

แต่ยังถือว่าโชคดีที่เมื่อเจาะหาน้ำบาดาลเจอตาน้ำพอดี จึงสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้ในระดับหนึ่ง เพราะหากไม่เจอตาน้ำบาดาลอาจต้องปล่อยให้ลูกทุเรียนเสียหาย วันนี้จึงอยากขอให้หน่วยงานภาครัฐช่วยทำฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอีกหลายรายที่กำลังจะไม่มีน้ำใช้สำหรับดูแลสวนผลไม้

เช่นเดียวกับ นายณัฏฐวงศ์ ชาวเวียง อายุ 55 ปี เกษตรกรสวนทุเรียนในพื้นที่ ม.5 บ้านคันนา บอกว่าขณะนี้ชาวสวนต้องดิ้นรนหาน้ำกันเองเพราะหากไม่ทำเช่นนั้นจะไม่มีน้ำรดสวนทุเรียนที่ชาวสวนได้ทุ่มเทบำรุงต้นและบำรุงผลมาตลอด

“สุดท้ายน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งปีนี้เรียกได้ว่าใกล้จะขาดทุนแล้วเพราะผลผลิตออกเยอะ บางสวนต้องลงทุนขุดบ่อใหม่เพื่อให้มีน้ำเพียงพอ ขณะที่สวนของเราปีนี้ได้ว่าจ้างเอกชนเข้ามาขุดเจาะน้ำบาดาลไปแล้ว 7 บ่อ ค่าขุดเจาะครั้งละ 190,000 บาท รวมเป็นเงินกว่าล้านบาทแล้ว และถ้าสุดท้ายรัฐไม่จัดทำฝนเทียมมาช่วยคงเดือดร้อนหนัก เพราะขณะนี้น้ำในสระภายในสวนหลายแห่งแห้งเข้าใกล้วิกฤตแล้ว” นายณัฏฐวงศ์ กล่าว


ด้าน นายถาวร ถวิลวงษ์ นายก อบต.ห้วงน้ำขาว พร้อมด้วย นายบุญยิ่ง สิงห์พันธ์ รอง นายก อบต.ห้วงน้ำขาว และเจ้าหน้าที่ชลประทานตราดได้เร่งนำรถน้ำจาก อบต.ห้วงน้ำขาว และรถน้ำจากสำนักงานชลประทานตราด เข้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น หลังพบว่าสระน้ำของเกษตรกรในหลายหมู่บ้านกำลังขาดน้ำ

นอกจากนั้น ยังจะจัดให้มีรถน้ำของเอกชน และรถน้ำของ อบต.ห้วงน้ำขาว รวมทั้งรถน้ำจากชลประทานตราด บรรทุกน้ำวันละ 120 เที่ยวต่อวัน หรือ 700,000-800,000 ลิตร มาส่งให้เกษตรในพื้นที่ 5 หมู่บ้านของ ต.ห้วงน้ำขาว ซึ่งชาวสวนจะต้องช่วยจ่ายเงินค่าไฟและค่าน้ำเที่ยวละ 100 บาท

ส่วนสระกลาง ต.ห้วงน้ำขาว นั้น อบต.ห้วงน้ำขาว จะทำการดูดน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองโบสถ์ ต.หนองคันทรง ที่มีระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร มาเติมให้วันละ 12-18 ชั่วโมงเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้อย่างทั่วถึง และจะหาวิธีดูดน้ำจากน้ำบาดาลช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง


นายถาวร เผยว่า สาเหตุหลักของปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาจากภาวะโลกร้อน และอีกส่วนหนึ่งมาจากเกษตรกรที่หันมาปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น เพราะช่วงฤดูผลผลิตออกสู่ท้องตลาดทุเรียนจะต้องการน้ำมากจนทำให้น้ำในแหล่งน้ำมีไม่เพียงพอ อีกทั้งบางสวนไม่มีแหล่งน้ำของตัวเอง 

อบต.ห้วงน้ำขาว จึงต้องจัดหารถน้ำจากชลประทาน และรถน้ำเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ เพราะหากปล่อยให้สวนทุเรียนขาดน้ำเพียง 1-2 วัน จะส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตทุเรียนในทันที






กำลังโหลดความคิดเห็น