xs
xsm
sm
md
lg

ปศุสัตว์ อบต.สวนป่าน รับฟังวิกฤตอาชีพโคนม หวั่นสูญจากชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครปฐม - อาชีพการเลี้ยงโคนมในพื้นที่ ต.สวนป่าน อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นหนึ่งในอาชีพที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่มานานถึง 3 ช่วงอายุคน แต่ปัจจุบันสถานการณ์การเลี้ยงโคนมได้เกิดวิกฤตปัญหาหลายด้าน ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น เนื่องจากมีความกังวลว่าอาชีพการเลี้ยงโคนมจะสูญหายไปจากพื้นที่ในอีกไม่นาน

วันนี้ (13 มี.ค.) ที่ศาลาประชาคม หมู่ที่ 4 ตำบลสวนป่าน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองนครปฐม ได้จัดโครงการฉีดวัคซีนป้องกันปากเท้าเปื่อย โรคลัมปีสกิน ให้โคนมและโคขุน ในพื้นที่ตำบลสวนป่าน โดยมีเกษตรกรให้ความสนใจเข้ามารับวัคซีนและแจ้งความประสงค์ที่จะให้ทีมสัตวแพทย์ลงพื้นที่ทำการฉีดให้ในฟาร์มเพื่อป้องกันโรคระบาดในพื้นที่

โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้ขอพบกับส่วนราชการ ผู้นำชุมชนเพื่อนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ผ่านตัวแทนและผู้นำชุมชน รวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเป็นการรับฟังปัญหาจากเกษตรกรโดยตรงซึ่งมีปัญหาหลายด้านที่สะสมมานาน ทั้งในเรื่องต้นทุนในการเลี้ยงสูงขึ้นสวนทางกับราคาน้ำนมที่จำหน่ายให้หน่วยงานที่รับซื้อ รวมถึงการต้องปรับตัวรับกับการยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยง เพื่อให้น้ำนมได้รับมาตรฐานในอนาคต ซึ่งเกษตรกรต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก

โดยการหารือดังกล่าว พ.ท.ดร.สินธพ แก้วพิจิตร (เสธ.แก้ว) อดีต ส.ส.นครปฐม เขต 1 เป็นตัวแทนภาคเกษตรกร ซึ่งได้เชิญนายระหงษ์ แพรอัตต์ นายก อบต.สวนป่าน นายสัตวแพทย์ปรีดา ถาวรประดิษฐ์ ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม นายชาญวิทย์ โสภาลดาวัลย์ ปศุสัตว์อำเภอเมืองนครปฐม และนายณัทกร แก้วพิจิตร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครปฐม เปิดเวทีเพื่อนำปัญหาทั้งหมดไปสู่การช่วยเหลือเกษตรกรทั้งในระยะเร่งด่วน และการวางแนวทางให้ในระยะยาว

นายเชน ดำสนิท ผู้เลี้ยงโคนม ม.4 ต.สวนป่าน บอกว่า ช่วง 2-3 ปี มีแต่กลุ่มผู้เลี้ยงที่ประกาศขายโคนม จนเกิดเป็นประเด็นว่าการเลี้ยงโคนมในพื้นที่ตำบลสวนป่าน เด็กรุ่นใหม่ซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 จะไม่มีใครสานต่ออาชีพของรุ่นปู่ ย่า เพราะมีปัจจัยไม่เอื้อหลายอย่าง ทั้งเรื่องต้นทุนด้านอาหารที่สูงขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ราคาน้ำนมนั้นลดลงสวนทางกัน และเป็นความเครียดของเกษตรกร

“อาชีพนี้กำลังสูญสลายในพื้นที่ เพราะนอกจากต้นทุนที่แพงแล้ว ยังมีเรื่องแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร รวมถึงการกำหนดจากภาครัฐเรื่องมาตรฐานฟาร์มที่กำลังจะเกิดขึ้น เกษตรกรอยากให้มีการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐเพราะปัญหามีหลายด้าน คนที่อยู่ได้คือคนที่มีฐานะดี แต่เกษตรกรที่ต้องอาศัยรายวันกินตอนนี้มีแต่ปัญหา ทุนจม อยากให้มีเงินกู้พิเศษ หรือมาตรการมาช่วยก่อนที่เกษตรกรจะหมดตัว” นายเชน กล่าว

นายระหงษ์ แพรอัตต์ นายก อบต.สวนป่าน กล่าวว่า ตนเคยเลี้ยงโคนมมาเมื่อปี 28 แต่วันนี้ทั้งอาหาร อากาศที่เป็นปัจจัยหลักได้เปลี่ยนไป เพราะเดิมทีอาหาร เช่น ฟาง มีในพื้นที่แต่ตอนนี้ไม่มีและราคาสูงมาก ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ 1 ปีเศษ ยินดีที่มีการจัดเวทีหารือกันขึ้นซึ่งเป็นครั้งแรก ซึ่งจะแก้ไขปัญหาในพื้นที่ทั้งแหล่งน้ำที่ไม่พอ และจะประสานงานร่วมมือกับหน่วยงานรัฐเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

นายสัตวแพทย์ปรีดา ถาวรประดิษฐ์ ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า การลงพื้นที่ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย ได้มีการกำหนดแผนในการทำงานเพื่อให้เป็นการป้องกันโรคระบาด ซึ่งยังมีโรคลัมปีสกินด้วย ซึ่งการเข้ามารับฟังปัญหาที่ทราบคือราคาน้ำนมไม่คุ้มค่ากับต้นทุน ซึ่งได้มีการนำข้อมูลว่าจะไปหาอาหารทดแทนที่ลดต้นทุนลงได้อย่างไร ซึ่งหากทำได้จะทำให้ลดต้นทุนการผลิต น่าจะช่วยในการแก้ปัญหาได้

ส่วนเรื่องของการประกันคุณภาพราคาน้ำนม เพื่อยกระดับฟาร์มเลี้ยงโคนม จากคอกแบบดั้งเดิมเป็นระดับ GFM ไปสู่ระบบ GMP ต้องหามาตรการมาช่วยยกระดับให้เกษตรกรในระยะยาว และทำให้อาชีพที่เกษตรกรที่ได้พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 สามารถผลิตน้ำนมที่ดีมีคุณภาพให้เด็กๆได้อย่างยั่งยืนด้วย

ด้าน พ.ท.ดร.สินธพ แก้วพิจิตร อดีต ส.ส.นครปฐม เขต 1 กล่าวว่า การได้เข้ามาร่วมรับฟังความปัญหาของเกษตรผู้เลี้ยงโคนม ในพื้นที่ ม.4 ต.สวนป่าน ทำให้ทราบว่าปัญหากำลังจะถูกส่งต่อไปยังเกษตรกรในรุ่นที่ 3 และทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ปัญหาที่ทราบคือ ปัญหาราคาน้ำนม การถูกกำหนดให้ยกระดับฟาร์มเลี้ยง ต้นทุนที่มีราคาสูง แหล่งน้ำในพื้นที่ รวมถึงปัญหาหลายด้านที่ได้รับทราบจากเกษตรกรโดยตรง

พ.ท.ดร.สินธพ กล่าวต่อว่า เกษตรกรโคนมถือว่าเป็นต้นทางพื้นฐาน ซึ่งประชากรซึ่งเติบโตจากเยาวชนที่ได้รับการดื่มนมที่ดีมีคุณภาพจะเป็นกำลังหลักที่มีคุณภาพ ยิ่งอาชีพการเลี้ยงโคนมเป็นเป็นอาชีพที่ได้รับพระราชทานซึ่งสานต่อจากโครงการพระราชดำริ ยิ่งแสดงความเป็นห่วงเกษตรกร แม้วันนี้จะมีปัญหาหลายด้านมารุมเร้า ซึ่งยังมีกระบวนการในการเพิ่มต้นทุนคือการยกระดับคุณภาพฟาร์ม ยิ่งมีผลกระทบต่อต้นทุน แต่ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในประชาคมโลก ต้องมีมาตรการมาควบคุม ซึ่งจะต้องมีการผลักดันในระดับกระทรวงต่อไป

“วันนี้ผมมาในฐานะตัวแทนฝ่ายประชาชน ฝ่ายเกษตรกร ซึ่วได้ติดตามมาร่วมรับฟังปัญหาจากเกษตรกร ส่งต่อถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องมีการนำปัญหาไปสู่การแก้ไข ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเรื่องนี้จะต้องมีการผลักดันเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ต่อไป แม้จะเป็นในรัฐบาลใหม่ก็ยังคงต้องทำงานร่วมกันต่อไป”




กำลังโหลดความคิดเห็น