xs
xsm
sm
md
lg

การยางภาคอีสานตอนบน MOU ซื้อขายยางก้อนถ้วยที่ได้รับการรับรอง FSC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มุกดาหาร - การยางแห่งประเทศไทย เขตภาคอีสานตอนบน ลงนามทำ MOU ซื้อขายยางก้อนถ้วยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามหลักสากล FSC ร่วมกับสหกรณ์ยางพาราชุมชนตำบลหนองแคน จำกัด
และ บมจ.ไทยอิสเทิร์น กรุ๊ป เผยเกษตรกรขายได้ราคาดีและมีความมั่นคงในอาชีพการทำสวนยาง



วันนี้ (2 ก.พ.) ที่ลานรวบรวมยาง สหกรณ์ยางพาราชุมชนตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผอ.ฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย นายธรรม นิลสุวรรณ ผอ.การยางแห่งประเทศไทย เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน นายปฐพงศ์ เมืองปลอด ผอ.การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดมุกดาหาร ได้ทำพิธีลงนามในสัญญาซื้อขายยางก้อนถ้วยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามหลักสากล โดยมีนายชัยวัฒน์ สุคำภา ประธานคณะกรรมการและผู้จัดการสวนป่าสหกรณ์ยางพาราชุมชนตำบลหนองแคน พร้อมด้วย หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรชาวสวนยางจากจังหวัดนครพนม และมุกดาหาร จำนวน 200 คน เข้าร่วมงาน

นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผอ.ฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับการทำสวนยางแบบยั่งยืน หรือมาตรฐาน FSC ทางยุโรปได้เข้มงวดกับกฎหมาย FSC ซึ่งมีข้อกำหนดหลัก 3 ข้อ 1. สวนยางต้องมีเอกสารสิทธิ มีแหล่งที่มา 2. สวนยางต้องถูกต้องตามกฎหมายของประเทศต้นทาง 3. สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ดังนั้น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรทำสวนยาง FSC โดยนำเอาตลาดเข้ามาช่วยในเรื่องของตลาดมีระบบตลาดกลาง เพื่อที่จะทำให้ความเป็นธรรม ในการซื้อขายยางทั้งฝั่งผู้ซื้อ-ผู้ขาย การทำมาตรฐาน FSC นี้ซึ่งเป็นมากกว่ามาตรฐานคุณภาพยาง


ปกติถ้าซื้อขายผ่านตลาดกลาง ตลาดกลางจะดูแลมาตรฐานคุณภาพให้ด้วย เช่น ถ้าเป็นยางก้อนถ้วย ต้องให้กรด และรูปพรรณสัณฐานของยางต้องสะอาด ไม่มีสิ่งปลอมปน ไม่มีเปลือกไม้อยู่ในก้อนถ้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นมาตรฐานของตลาดกลาง เมื่อนำ FSC มาผ่านตลาดกลางด้วยที่เกษตรกรจะได้คำแนะนำให้เกษตรกรผลิตเป็นยางก้อนด้วยคุณภาพดี และเกษตรกรได้ราคาที่เป็นธรรม จากการพัฒนาคุณภาพ

ในส่วนของผู้ซื้อเอง จะได้คุณภาพ FSC แล้วจะได้ในเรื่องของคุณภาพ เมื่อนำเข้าไปในกระบวนการแปรรูป จะทำให้ผลผลิตที่ออกมามีความคงทนมากขึ้น และลดการสึกหรอของเครื่องจักรช่วยลดต้นทุนในการผลิตอีกด้วย

นายธรรม นิลสุวรรณ ผอ.การยางแห่งประเทศไทย เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เปิดเผยว่า ในส่วนของการสนับสนุนของ FSC ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีทั้งหมด 10 จังหวัด หนึ่งในนั้นคือจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งในวันนี้คิกออฟ (chick off) ในการซื้อขายยางก้อนถ้วยที่ได้รับมาตรฐาน คือการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ในส่วนของการดำเนินการเขตหรือในจังหวัด ได้รับเป้าหมายใน 10 จังหวัด ใน พ.ศ. 2564 มี 3 จังหวัด มีจังหวัดมุกดาหาร เลย และบึงกาฬ โดยจังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดแรกที่ได้รับ รองมาตรฐานสวนยางเป็นแห่งแรก มีพื้นที่รวมกว่า 7,000 ไร่ โดยจังหวัดมุกดาหาร พื้นที่เดิมจาก 2,600 ไร่ ส่วนอีก 2 จังหวัดรวมพื้นที่ประมาณ 7,000 ไร่




สำหรับปี 2566 มีเป้าหมายเพิ่มเติมที่จะได้ใบรับรองเพิ่มอีก 2 จังหวัด คือ หนองคาย และหนองบัวลำภู เพราะฉะนั้นในส่วนของการดำเนินการ FSC ซึ่งมีความจำเป็นและสำคัญในเรื่องของการสร้างมาตรฐาน สิ่งที่อยากจะให้ผลิตยางให้ได้มาตรฐาน ต้องเอาตลาดมานำการผลิต คือปลายทางคือต้องการขายยางที่มีคุณภาพ และได้ราคาที่เป็นพรีเมียม สิ่งที่จำเป็นก็คือความต้องการของตลาด เราในฐานะเป็นฝ่ายส่งเสริมสนับสนุนผลิตยาง FSC ก็ควรดูตลาดเป็นสำคัญ ถ้าเขาต้องการปีละ 30,000 ตัน การยางแห่งประเทศไทยก็ควรจะกำหนดเป้าหมายส่งเสริมและการเพิ่มราคายางพารา

อนาคตข้างหน้ากรณียางพาราที่ปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน น่าจะเป็นพื้นที่ปลูกยางหลักของประเทศไทย ถ้าการยางแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุนภาคอีสาน ผลิตเป็นยางก้อนถ้วยก็ควรจะได้รับการสนับสนุน อนาคตข้างหน้าพยายามจะสร้างความแตกต่างกับต่างประเทศหรือประเทศอื่น ประเทศไทยมีการยางฯ ดูแลอยู่ให้เป็นยางที่มีคุณภาพ แล้วได้มาตรฐานเป็นตลาดปลายทาง เช่น ยุโรป ต้องการ


นายชัยวัฒน์ สุคำภา ประธานคณะกรรมการและผู้จัดการสวนป่าสหกรณ์ยางพาราชุมชนตำบลหนองแคน กล่าวว่า เหตุผลที่มาเริ่มโครงการนี้คือ ราคายางพาราที่บางครั้งถูกกดราคา ราคาก็เป็นความผันผวนของราคาตลาดทั่วโลกด้วย ได้คุยกับสมาชิกว่า ถ้าเราทำเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราก็ได้ราคานี้เหมือนเดิม ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาองค์กร หรือภาวะเศรษฐกิจ พอทางการยางแห่งประเทศไทย มันเข้ากับเจตนารมณ์ของเรา เราจะทำให้ยางเราจากในตลาดทั่วไป ยกระดับยางจึงได้ดำเนินโครงการนี้

สำหรับความยากง่ายที่จะเข้าโครงการนี้ ก่อนอื่นต้องตกลงว่าจะทำหรือไม่ ถ้าตกลงที่จะทำแล้วเรื่องความยากของโครงการแต่เรามีผู้ช่วย มีพี่เลี้ยงดีมากคือ การยางแห่งประเทศไทย มาคอยเติมในส่วนที่เราขาดทางวิชาการ จะมีผู้รู้ผู้มีความสามารถที่จะมาช่วยเรา สำหรับในทางปฏิบัตินั้นแต่มาเรียงลำดับความสำคัญ ไม่ว่าสิ่งแวดล้อม ชุมชน ผลกระทบที่เกิดขึ้นในบริเวณที่อยู่ใกล้เรา เราต้องใส่ใจคนรอบข้างมากขึ้น ใส่ใจสภาพแวดล้อมมากขึ้น มีหลักๆ ที่ต้องคำนึงถึง

เกษตรกรที่อยากเข้ามาร่วมกลุ่ม เราจะมีพื้นที่รอบข้าง เช่น กาฬสินธุ์ นครพนม และสกลนครบางส่วน ถ้ากลุ่มเกษตรกรจะเข้ามาร่วมก็เข้ามาได้ เริ่มแรกใจอยากทำหรือเปล่า ถ้าสนใจก็ยินดีที่จะช่วยสนับสนุน สำหรับแผนที่จะต่อยอดคือจะขยายสมาชิกให้เต็มก่อน หลังจากได้สมาชิกเยอะแล้ว ต่อไปจะต้องมีโรงงานแปรรูปยางพาราที่มีมาตรฐาน


กำลังโหลดความคิดเห็น