xs
xsm
sm
md
lg

น่าเศร้าใจอาชีพเกษตรกรเลี้ยงหมูใน จ.ฉะเชิงเทรา เริ่มหายจากปัจจัยการตลาด-ราคาอาหารพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเฉรา - อดีตเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูใน จ.ฉะเชิงเทรา ชี้ราคาเนื้อหมูหน้าฟาร์มตกต่ำไม่กระทบผู้เลี้ยงในพื้นที่ เหตุเพราะปัจจุบันหันไปเป็นผู้รับจ้างเลี้ยงให้บริษัทใหญ่เกือบหมด หลังแบกรับต้นทุนอาหารและการทำตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ไหว เผยบางรายหันไปทำไร่ เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งแทน

วันนี้ (2 มี.ค.) นายบุญสม ศรีศิริโชคชัย อายุ 74 ปี อดีตเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ขนาดฟาร์ม 2,000-3,000 ตัวใน อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ได้ออกมาเปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาเนื้อหมู หน้าฟาร์มที่กำลังตกต่ำอย่างหนักว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เนื่องจากปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรตัวจริงเหลือเพียงไม่กี่ราย จากจำนวนที่เคยมีมากกว่า 500 รายในอดีต

ทั้งนี้ เป็นเพราะส่วนใหญ่หันไปเป็นผู้รับจ้างเลี้ยงจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ห่วงโซ่การผลิตแบบครอบคลุมทั้งระบบตั้งแต่การเลี้ยง ไปจนถึงการชำแหละเนื้อออกขายแบบผูกขาดตลาดทั้งระบบ

และยังบอกอีกว่า ในอดีตเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูใน จ.ฉะเชิงเทรา ในส่วนของฟาร์มขนาดเล็กจะเลี้ยงหมูประมาณ 400-500 ตัว ส่วนฟาร์มขนาดกลางจะเลี้ยงหมูตั้งแต่ 4,000-5,000 ตัว และฟาร์มใหญ่เลี้ยงหมูนับหมื่นตัว แต่สุดท้ายผู้เลี้ยงไปไม่รอดจนต้องปิดกิจการไปเกือบหมด


“ในอดีตราคาพืชผลซึ่งเป็นต้นทุนด้านอาหารสัตว์ยังไม่ขยับราคาสูงเช่นปัจจุบันซึ่งสวนทางกลับราคาเนื้อหมูหน้าฟาร์มที่ไม่มีการขยับราคาขึ้น และเมื่อไม่มีใครยื่นมือเข้ามากำกับดูแลอย่างแท้จริง เกษตรกรที่แบกรับต้นทุนการผลิตไม่ไหวก็ทยอยปิดฟาร์มไป และปล่อยให้บริษัทขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยด้านการผลิตที่ครบถ้วนเป็นผู้ครอบครองตลาด”

ไม่เพียงเท่านั้น โรคระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยเฉพาะโรคอหิวาต์แอฟริกา ยังทำให้ผู้เลี้ยงหมูได้รับความเสียหายอย่างหนักจนต้องพากันเลิกเลี้ยงหมู และหันไปเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาแทน บางรายหันไปทำสวนเกษตร เช่น สวนมะม่วง ตามความถนัดและเพื่อความอยู่รอด เช่นเดียวกับตนเองที่หันมาปลูกมะม่วงเพื่อเลี้ยงชีพ

“วันนี้จึงอยากวิงวอนภาครัฐและบริษัทยักษ์ใหญ่ให้ช่วยดูแลราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าบริโภค เพราะที่ผ่านมา เนื้อหมูสามชั้น และหมูเนื้อแดงราคาขายที่ส่งถึงมือผู้บริโภคค่อนแพงโดยไม่ทราบสาเหตุ” นายบุญสม กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น