xs
xsm
sm
md
lg

กระหึ่มทั้ง 7 วัน 7 คืน! “เมืองแพร่” เตรียมจัดงานไหว้สาพระธาตุช่อแฮ ปลุกท่องเที่ยวหลังโควิด-เริ่ม 28 กุมภาฯ นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพร่ - “เมืองแพร่” ระดมทุกภาคส่วนเตรียมจัดงานประเพณี “ไหว้สาพระธาตุช่อแฮ แห่ตุงหลวง” ยิ่งใหญ่ 7 วัน 7 คืน เริ่ม 28 กุมภาฯ นี้ ชูวัฒนธรรมปลุกเศรษฐกิจหลังโควิด


พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าฯ นางกรวรรณ สุ่มมาตย์ วัฒนธรรมจังหวัด นายอนันต์ สีแดง ผอ.ททท.สนง.แพร่ นายเสรี ทรงศักดิ์ รองนายก อบจ. ได้ร่วมกันแถลงข่าวการเตรียมจัดงานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ซึ่งเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเมืองแพร่ ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-6 มี.ค. 66 ณ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง จ.แพร่

รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เจริญพรว่า วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง สร้างในสมัยไหนไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ตามประวัติศาสตร์ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างว่าสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท) ขณะดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชปกครองเมืองศรีสัชนาลัย ได้เสด็จมาสักการะองค์พระธาตุช่อแฮ

และปี พ.ศ. 1902 ได้เสด็จมาปฏิสังขรณ์ จากนั้นได้จัดงานสมโภชถวาย 7 วัน 7 คืน จนกลายเป็นงานประเพณีที่ประชาชนชาวจังหวัดแพร่จัดงานสักการะองค์พระธาตุทุกปี มีชื่อว่า “งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง” ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดแพร่ ปีนี้มีขึ้นระหว่างวันที่ 28 ก.พ.ถึงวันที่ 6 มี.ค. 66 ชมฟรีตลอดงาน

ในงานมีทั้งกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา กิจกรรมสมโภชสักการะองค์พระธาตุช่อแฮ กิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น วันที่ 22 ก.พ. 66 พิธีบวงสรวงพระธาตุช่อแฮ พิธีมหาพุทธาภิเษกวัตถุมงคล วันที่ 24 ก.พ. พิธีเลี้ยงเจ้าขุนลัวะอ้ายก้อม วันที่ 26 ก.พ. พิธีตานตุงและตานเจดีย์ทราย อุทิศถวายแด่บูรพาจารย์ บริเวณหน้ากู่อัฐิ พระครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา วันที่ 28 ก.พ.-6 มี.ค. 66 เทศน์มหาเวสสันดรชาดก และวันที่ 6 มี.ค. ทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนเนื่องในวันมาฆบูชา วันที่ 7 มี.ค. พิธีส่งพระมหาอุปคุต เป็นต้น


นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดแพร่ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน จัดขึ้นในวันขึ้น 9 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ เป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับเศรษฐกิจในจังหวัดแพร่ได้เป็นอย่างดี ปีนี้จะจัดขึ้นระหว่าง 28 ก.พ. ถึงวันที่ 6 มี.ค. 66

โดยเฉพาะวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 วันแรกของงาน เริ่มตั้งแต่ 14.00 น. เป็นต้นไป จะมีขบวนหลักแห่เครื่องสักการะองค์พระธาตุ โดยจังหวัดแพร่และอบจ.แพร่สนับสนุนขบวนแห่สักการะพระธาตุที่ยิ่งใหญ่จากประชาชน 8 อำเภอของจังหวัดแพร่ มีทั้งขบวนศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ขบวนแห่ของดีแต่ละอำเภอ ขบวนช้างเจ้าหลวงเมืองแพร่ ขบวนผ้าห่มองค์พระธาตุและผ้าแพรวันเกิด 7 สี

ขบวนตุงสักการบูชาองค์พระธาตุช่อแฮ ประกอบด้วย ขบวนปฐมตำนานขุนลัวะอ้ายก้อม วันทากราบน้อม บูชาพุทธองค์ ขบวน "ตามรอยราชศรัทธา พญาลิไทเหนือเกล้า อันเป็นต้นเค้า บูรณะพระธาตุเจ้าช่อแฮ" ขบวน "ปาระมีบุญ 2 ครูบา มหาเถรเจ้าปฏิสังขรณ์ศรีวิชัย เมธังกร ร่วมสร้างศรัทธา" ขบวน "สาธุปูสุขีเถระ พระมหาโพธิวงศาจารย์ ระลึกคุณผู้สืบสาน อนุรักษ์พระธาตุเจ้าช่อแฮ" ขบวนธาตุปีขาล สืบตำนานล้านนา พระโกศัยเจติยาฯ บูรณะรักษาพระธาตุเจ้าช่อแฮ ขบวนตุงชัยถวายพระเจ้าช่อแฮ ขบวนฟ้อนปูจาพระธาตุช่อแฮของสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่จำนวน 200 คน


สิบเอก หญิง กรวรรณ สุ่มมาตย์ วัฒนธรรมจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ตลอดงาน 28 ก.พ.-6 มี.ค. 66 จะมีการจัดตลาดนัดวัฒนธรรมภูมิปัญญา “ข่วงศิลป์ถิ่นโกศัย” กิจกรรมถ่ายทอดภูมิปัญญา สล่าเมืองแพร่ นิทรรศการศิลปวัฒนธรรม นิทรรศการวิถีชีวิตช่อแฮ การแสดงผลงานด้านศิลปกรรม จิตรกรรมของศิลปินเมืองแพร่ นิทรรศการเมืองแพร่ เมืองสร้างสรรค์ การประกวดภาพถ่ายวิถีช่อแฮ การเสวนาสร้างสรรค์ ตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอาหารและยาสมุนไพรที่น่าสนใจ ชมการประกวดกลองสะบัดชัย การประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง การประกวดภาพวาดวิถีช่อแฮ การแสดงแสงสีเสียง “เล่าขานตำนานพระธาตุช่อแฮ” ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงดนตรีศิลปินชื่อดัง การแสดงบนเวที เลือกซื้อสินค้าราคาถูกจากโรงงาน มีสวนสนุกและมโหรสพสมโภช ตลอด 7 วัน 7 คืน

ทั้งนี้ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เป็นวัดที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดแพร่และภาคเหนือ องค์พระองค์พระธาตุ มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะแบบเชียงแสน เป็นพระธาตุ 1,000 ปี ที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล จากความสำคัญดังกล่าว จังหวัดแพร่จึงนำองค์พระธาตุช่อแฮ ประดิษฐ์อยู่บนหลังม้าเป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัดแพร่และนำมาเป็นคำขวัญของจังหวัดแพร่




กำลังโหลดความคิดเห็น