xs
xsm
sm
md
lg

วิพากษ์ “ปลาหยก” ด้วยความเข้าใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปลาหยก
เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันพอสมควรถึงการเพาะเลี้ยง “ปลาหยก” ในประเทศไทยว่าเหตุใดบริษัทแห่งหนึ่ง จึงสามารถเพาะเลี้ยงได้ ทั้งๆ ที่เป็น 1 ใน 13 ชนิดปลาต่างถิ่นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีประกาศห้ามเพาะเลี้ยงในประเทศ มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ยกเว้นจะได้รับอนุญาตจากกรมประมง ซึ่งก็มีความชัดเจนตามคำบอกกล่าวของกรมประมงแล้วว่า บริษัทดังกล่าวได้รับอนุญาตให้เพาะเลี้ยงปลาหยกอย่างถูกต้อง

น.สพ.ชัย วัชรงค์ นักวิชาการและสื่อสารมวลชน อธิบายถึงปลาดังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปลาหยก เป็นปลาน้ำจืดท้องถิ่นของออสเตรเลียที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบลุ่มทะเลสาบ Eyre ที่ผ่านมา มีการนำเข้าปลาหยกเข้าไปในประเทศสหรัฐอเมริกา จีน และ มาเลเซีย เพื่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะประเทศจีน มีประวัติการนำเข้าปลาชนิดนี้มาอย่างยาวนาน และที่สำคัญ ยังไม่เคยมีรายงานว่า ปลาหยก มีการรุกรานในพื้นที่นอกถิ่นที่อยู่เดิมแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจกับคำว่า “ปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือ Alien Species” นั้น ไม่ได้หมายถึงปลาที่เป็นอันตรายหรือรุกรานต่อปลาท้องถิ่นเสมอไป เพราะปลาต่างถิ่นนั้นมีทั้ง 1.) กลุ่มที่เป็นปลารุกราน (Invasive) และ 2.) กลุ่มที่เป็นปลาไม่รุกราน (Non-invasive) ในทางกลับกัน ปลาต่างถิ่นบางชนิดเมื่อนำเข้ามาแล้วยังสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่คนไทยดีขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนอย่าง “ปลานิล” ที่มีถิ่นกำเนิดจาก ลุ่มแม่น้ำไนล์ ทวีปแอฟริกา

ขณะที่สื่อหลายสื่อพากันประโคมคำว่า เอเลี่ยนสปีชีส์ จนประชาชนเข้าใจไปในทิศทางเดียว ว่าเป็นปลาอันตรายหรือปลานักล่าไปเสียแล้ว ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในข้อมูลและนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ที่เบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง ทั้งๆที่หากสังคมเกิดการวิพากษ์อย่างเข้าใจและสร้างสรรค์ เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้อย่างถ่องแท้ ก็จะช่วยให้สังคมไทยพัฒนาก้าวหน้าขึ้น ทั้งในแง่ของความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ และการสร้างความเข้าใจเชิงสังคมศาสตร์ ไม่ก่อให้เกิดความเกลียดชังแตกแยก และน่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ถูกต้องตรงจุด

น.สพ.ชัย ยังระบุอีกว่า “สัตว์น้ำต่างถิ่นที่อยู่ในบัญชีรุกรานอย่างร้ายแรงของโลก” มีอยู่ด้วยกัน 21 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นปลาอยู่ 8 ชนิด ซึ่ง “ปลาหยก” ไม่ได้จัดอยู่ในลิสต์กลุ่มนี้แต่อย่างใด และที่น่าแปลกใจคือปลาบางตัวใน 8 ชนิดนี้ กลับไม่อยู่ในบัญชีปลาที่ห้ามเพาะเลี้ยงในไทย ตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ที่มีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2564 ด้วยซ้ำ

การนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น เข้ามายังประเทศไทย ถ้านับจนถึงปี 2562 พบว่านำเข้ามามากกว่า 1,100 ชนิด แยกประเภทเป็น “ปลา” ประมาณ 1,000 ชนิด ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นปลาสวยงาม และเป็นปลาเพื่อการบริโภค เพียง 28 ชนิดเท่านั้น

ทั้งนี้ การสั่งห้ามเพาะเลี้ยงปลา 13 ชนิดในประเทศไทยนั้น บางชนิดก็มีรายงานแน่ชัดเป็นที่ประจักษ์ทั่วโลกแล้วว่าเป็นอันตราย เช่น ปลากะพงปากกว้าง ปลาเทราท์สายรุ้ง ปลาเทราท์สีน้ำตาล แต่บางชนิดยังมีข้อมูลไม่ชัดเจนมากพอว่า ปลอดภัยหรือไม่ แต่เป็นปลาที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีผู้ประสงค์จะนำเข้ามาเลี้ยงกันมาก “ปลาหยก” ก็จัดอยู่ในกลุ่มหลังนี้

อีกมุมหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า หนึ่งในปลาอันตรายที่สุดในโลกอย่าง “ปลาเทราท์สายรุ้ง” หรือ “ปลาเรนโบว์เทราท์” กรมประมงของไทยก็อนุญาตให้มีการวิจัยพัฒนาโดย ปตท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสามารถพัฒนาสู่ระบบอุตสาหกรรมและพัฒนาเป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้ประเทศได้ในปัจจุบัน
(อ้างอิง : https://www3.rdi.ku.ac.th/?p=72603&fbclid=IwAR2zdZJzHIdHoklnt2VT7vcf5bV2-qiQ98a0zpwVpyLCn8n1wabQ84x3elc)

ผู้เขียนมองว่าในประเทศนี้คงมีไม่กี่บริษัทที่จะทุ่มงบประมาณในการลงทุนวิจัยพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ๆเพื่อประเทศชาติ ซึ่งตามปกติงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จนั้นมักจะมีจำนวนน้อยกว่าที่ล้มเหลวมากนัก งบเหล่านี้จึงสูญเปล่าไปไม่ใช่น้อย การที่มีภาคเอกชนเต็มใจวิจัย-พัฒนาในสิ่งที่พอเป็นไปได้ ภายใต้การอนุญาตและกำกับดูแลอย่างเข้มงวดใกล้ชิดของกรมประมง จึงเป็นเรื่องที่ดีและสมเหตุผลที่จะสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยดังกล่าว เพราะหากสามารถพัฒนาให้ปลาหยกกลายเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาอีกชนิดหนึ่ง ก็ย่อมเป็นผลดีต่อประเทศและคนในชาติ ไม่ต่างจาก “ปลานิล” ที่เคยถูกเรียกขานว่าเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยนส์ สปีชี่ส์ เช่นกัน

โดย ปกรณ์ ธาราธาร

ปลาเรนโบว์เทราท์

ปลานิล


กำลังโหลดความคิดเห็น