xs
xsm
sm
md
lg

“ปลาหยก” นวัตกรรมอาหารกับความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปลาหยก” ที่เอกชนรายหนึ่งได้รับอนุญาตจากกรมประมง นำเข้ามาทดลองเลี้ยงและทดลองตลาด แต่มีเรื่องการถกเถียงกันถึงปลาชนิดนี้ถูกจัดเป็น 1 ใน 13 ปลาต่างถิ่นที่กรมไม่อนุญาตให้นำเข้า หวั่นเรื่องระบบนิเวศหากมีการหลุดลอดออกสู่สาธารณะ

“ปลาหยก” ที่เอกชนรายหนึ่งได้รับอนุญาตจากกรมประมงในการนำเข้ามาทดลองเลี้ยงและทดลองตลาดนั้นมีการถกเถียงกันพอสมควร ในประเด็นหลักคือ ปลาชนิดนี้ถูกจัดเป็น 1 ใน 13 ปลาต่างถิ่นที่กรมไม่อนุญาตให้นำเข้าหากไม่ขออนุญาตอย่างถูกต้อง ด้วยความกังวลด้านระบบนิเวศหากมีการหลุดลอดออกสู่สาธารณะ ล่าสุด กรมประมงได้ออกมาชี้แจงว่า คณะกรรมการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (IBC) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้อนุญาตให้บริษัทฯ ดังกล่าวนำปลาหยกมาทดลองเลี้ยงและทดลองตลาดได้ แต่ห้ามเพาะเลี้ยงเพื่อการจำหน่ายเป็นปลามีชีวิตที่เป็นลูกพันธุ์ เพื่อป้องกันการเล็ดลอดออกสู่สิ่งแวดล้อม

เท่าที่ทราบ กว่าจะอนุญาตได้นั้นกรมประมงและคณะกรรมการ IBC ใช้เวลาหลายปีในการพิจารณา เพราะต้องมั่นใจก่อนว่าการทดลองเลี้ยงปลาหยกนี้มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังบังคับว่าการเลี้ยงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของกรมประมง

การทดลอง วิจัย พัฒนาเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารสำหรับมนุษย์ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ประเทศต้องพัฒนาและยกระดับมาตรฐานงานทางวิทยาศาสตร์การประมงให้สูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่สัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศ รวมถึงช่วยเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ดีกว่าการย่ำอยู่กับที่โดยไม่กล้าพัฒนาสิ่งใดเลย เพียงแต่ต้องคำนึงและตระหนักถึงความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งนี้ งานวิจัยสำคัญที่ช่วยให้กรมประมง และ IBC มีความมั่นใจและอนุญาตให้ทำการทดลองได้นั้นน่าจะเป็นผลการประเมินความเสี่ยงทางนิเวศของนักวิจัยจาก ม.บูรพา และ ม.เกษตร
 
ดร.วันศุกร์ เสนานาญ ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี และ ผศ.ดร.รัฐชา ชัยชนะ ภาควิชาเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ร่วมกันประเมินความเสี่ยงทางนิเวศของปลาหยก หรือ JADE PERCH ต่อความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ระบุบทสรุปสำหรับผู้บริหาร เสนอต่อคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง ความว่า
 
“คะแนนความเสี่ยงต่อการเป็นชนิดพันธุ์รุกรานของปลาชนิดนี้อยู่ในระดับปานกลาง มีคะแนนเฉลี่ย 7.5 เทียบกับปลาน้ำจืดต่างถิ่นที่รุกรานซึ่งมักจะมีคะแนนอยู่ที่มากกว่า 19 ดังนั้น ปลาชนิดนี้อยู่ในเกณฑ์ที่จะพอจะจัดการความเสี่ยงได้ หากมีการอนุญาตให้เพาะเลี้ยง”

นั่นหมายความว่า ปลาหยกห่างชั้นกับปลานักล่าไปหลายขุม ถ้าให้น้ำหนักเพื่อการพัฒนาวงการประมงเทียบกับความเสี่ยงที่รับได้เช่นนี้ ก็เป็นเหตุเป็นผลพอที่จะอนุญาต ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของกรมประมง ประกอบกับการตรวจสอบสถานที่เลี้ยงที่เป็นระบบปิดและมีทะเลล้อมรอบยิ่งปลอดภัยขึ้นไปอีก
 
นอกจากนี้ ผู้ประเมินยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า รูปร่างที่อ้วนอุ้ยอ้ายของปลาหยกไม่สามารถหนีการรุกรานของเจ้าถิ่น เช่น ปลาช่อน หรือปลาชะโดไปได้เลย อีกทั้งการอนุญาตให้เลี้ยงเฉพาะพื้นที่ใกล้ชายทะเลเป็นการป้องกันอีกขั้นหนึ่ง เพราะปลาชนิดนี้ทนความเค็มไม่ได้ หากหลุดไปก็ตายอย่างเดียว จึงยิ่งตอกย้ำความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกส่วนหนึ่ง

หากเกษตรกร หรือเอกชนรายใดทำการขออนุญาตนำเข้าปลาชนิดอื่นๆ เพื่อการวิจัยพัฒนาย่อมสามารถทำได้ โดยต้องทำให้กรมประมง และคณะกรรมการ IBC มั่นใจว่ามีระบบปิดที่รัดกุมเพียงพอ และมีหลักฐานยืนยันความปลอดภัยต่อระบบนิเวศ ตลอดจนความพร้อมด้านทีมงานวิจัยที่พร้อมรายงานความคืบหน้าการเลี้ยงตลอดเวลา จะเป็นการร่วมกันยกระดับนวัตกรรมอาหาร พัฒนาวงการประมง สร้างสิ่งใหม่ภายใต้การดูแลสิ่งแวดล้อมเดิม เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้เช่นกัน

โดย วงศ์อร อร่ามกูล


กำลังโหลดความคิดเห็น