เชียงราย - “อาจารย์เฉลิมชัย” ผ่ากลางวงดรามามวยไทย-กุนขแมร์ ชี้ศิลปะทุกแขนงล้วนสืบอิทธิพลรากเหง้ากันมาทุกยุค ไม่เว้นขอม สุโขทัย อยุธยา อียิปต์ ยุโรป ฯลฯ ก่อนพัฒนาการสร้างสรรค์อัตลักษณ์ตัวเอง
วันนี้ (6 ก.พ. 66) อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะวัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย ได้เผยแพร่คลิปผ่านทางเฟซบุ๊กลูกศิษย์ชื่อ "นรินทร ทามาส" พร้อมขึ้นหัวข้อว่า "อาจารย์เฉลิมชัยขอพูดเรื่องศิลปะการต่อสู้ มวยไทยและมวยกัมพูชาหน่อยครับ"
ก่อนอธิบายถึงพัฒนาการของศิลปะทุกแขนงที่ต่างได้รับอิทธิพลกันไปมา สุดท้ายเมื่อบ้านเมืองใดมีความเข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองก็จะพัฒนาศิลปะแขนงนั้นๆ ให้กลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตน จึงอยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจเรื่องของศิลปะและอย่าได้นำมาเป็นประเด็นทะเลาะกัน เนื่องจากมีพัฒนาการทั่วโลกที่บ่งบอกถึงพัฒนาการดังกล่าวอย่าง อียิปต์ ยุโรป ฯลฯ
อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวว่า ศิลปะนั้นไม่ได้มีเพียงการวาดรูป การปั้นรูป สถาปัตยกรรม นาฏกรรม วรรณกรรม ฯลฯ แต่ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ คือศิลปะการต่อสู้ด้วยมวย ที่กำลังออกมาซัดกันอย่างเต็มที่ทั้งชาวกัมพูชาและพี่น้องคนไทย ซึ่งขอบอกว่าแท้จริงศิลปะนั้นต่างได้รับอิทธิพลกันไปมาอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นที่ยุโรป อียิปต์ กรีก ฯลฯ ตั้งแต่ยังไม่มีการก่อตั้งเป็นประเทศด้วยซ้ำ แต่ต่อมาเมื่อมีความเป็นประเทศจึงสร้างสิ่งต่างๆ ให้เป็นของตัวเองภายหลัง ทำให้บางครั้งศิลปะ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ ของแต่ละประเทศมีความคล้ายกัน แต่มีการพัฒนาให้กลายเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศไป
กรณีของประเทศไทยเรานั้น เริ่มต้นจากอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งอาจจะมีความเป็นมาไม่เท่ากับอาณาจักรในประเทศกัมพูชาที่มีมานานนับพันปี โดยสุโขทัยได้รับอิทธิพลมาจากลังกาในด้านศาสนา ส่วนจิตรกรรม สถาปัตยกรรม ฯลฯ ได้รับอิทธิพลมาจากขอมหรือกัมพูชาในปัจจุบัน
แต่เมื่อถึงสมัยอาณาจักรอยุธยาถือว่าขึ้นสู่จุดสุดยอดของศิลปะทุกด้าน ทุกแขนง โดยมีอัตลักษณ์ที่คลี่คลาย ตัดทอน สร้างสรรค์ ให้มาเป็นของตัวเอง ทั้งสถาปัตยกรรม วรรณกรรม รูปปั้น รูปวาด แกะไม้ นาฏกรรม ฯลฯ ทุกอย่างเป็นของตัวเองทั้งหมด
อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวอีกว่า ยุคนั้นแม้จะได้รับอิทธิพลมาจากหลายแหล่ง แต่ก็มีศิลปินที่พัฒนาศิลปะให้ถึงสุดยอดโดยเฉพาะช่วงที่บ้านเมืองสงบสุข ซึ่งก็รวมถึงเรื่องศิลปะการต่อสู้มวยที่ถูกพัฒนามาเป็นอัตลักษณ์ของชาติ ดังนั้นในยุคอยุธยาจึงเป็นของไทยแท้ แต่เมื่อถามว่ามีเจือปนกับที่อื่นด้วยไหม ก็ต้องยอมรับว่ามี แต่ได้ถูกนำมาสร้างสรรค์ใหม่แล้ว
เช่นเดียวกับการวาดรูปที่ใหม่ๆ ศิลปินก็จะวาดไปตามที่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งที่เคยพบเห็น ก่อนนำมาพัฒนาให้คลี่คลายเป็นของตัวเองไปในที่สุด ส่วนมวยคงได้รับอิทธิพลมาจากขอม แต่ได้นำมาดัดแปลง สร้างสรรค์ คิดค้นใหม่ รวมทั้งมีพื้นฐานของเดิมอยู่แล้วด้วยจึงถือได้ว่าได้พัฒนาจนกลายเป็น "แม่ไม้มวยไทย" อันเป็นอัตลักษณ์
ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงรายกล่าวด้วยว่า ยิ่งประเทศใดมีความเจริญก็จะพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว เหมือนอาณาจักรขอมโบราณ แต่ต่อมาก็อ่อนแอลง ส่วนทางสุโขทัย อยุธยา กลับเข้มแข็งขึ้น ทำให้ศิลปะวัฒนธรรมทุกอย่างของอยุธยามีความยิ่งใหญ่ การมีอิทธิพลต่อกันไปมาจึงถือเป็นเรื่องธรรมดาในการส่งเสริมซึ่งกันและกัน สุดท้ายความคิดสร้างสรรค์ทำให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ ซึ่งมีการพัฒนามาทุกยุคทุกสมัย
อย่างขอมเคยพัฒนามวยของตัวเองจนสูงสุด และสุดท้ายก็ถึงจุดเสื่อมตามสภาวะของบ้านเมือง เมื่อบ้านเมืองแย่ลงก็อ่อนแอลงคนเก่งก็หายสาปสูญ เหมือนกรณีอยุธยาเมื่อล่มสลายเพราะถูกพม่าตีแตก คนเก่งก็หายไปหมด ถูกกวาดต้อนไป ดังนั้นอย่าได้คิดมากและขอให้ทุกฝ่ายรักกัน เพราะศิลปวัฒนธรรมเป็นของมนุษย์ทั้งโลก ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง
“อย่าได้ทะเลาะกันเลย เพราะของทุกประเทศก็ดีเหมือนกัน แต่อัตลักษณ์สำคัญที่สุด เพราะสุดท้ายจะเป็นงานศิลปะบริสุทธิ์ที่ตัดทอน ลดทอน อิทธิพลอื่นลงให้เหลือน้อยที่สุดเหมือนที่เคยมีในสมัยอยุธยา ส่วนนานาประเทศที่มีอัตลักษณ์ของเขา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เมียนมา กัมพูชา ไทย ฯลฯ ต่างก็มีอัตลักษณ์ของตัวเองเช่นกัน