เพชรบุรี - “ยุทธพล” เตรียมดัน "เขานางพันธุรัต" เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ควบคู่กับการอนุรักษ์ หลังกรมธรณีสำรวจพบหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลเป็นจำนวนมาก กระจายตัวอยู่ตามก้อนหินปูนที่หลุด และร่วงลงมาตามเชิงเขา อายุกว่า 250 ล้านปี
ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงกรณีที่นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี สำรวจและค้นพบแหล่งซากดึกดำบรรพ์ ซากพืชหรือสัตว์ที่เป็นหิน (Fossil) ที่มีอายุกว่า 250 ล้านปี ในยุคก่อนไดโนเสาร์ ที่วนอุทยานเขานางพันธุรัต อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี นั้น เป็นอีกสิ่งที่น่ายินดีสำหรับจังหวัดเพชรบุรี การค้นพบหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลเป็นจำนวนมากกระจายตัวอยู่ตามก้อนหินปูนที่หลุด และร่วงลงมาตามเชิงเขา
ซึ่งได้แก่ ปะการังไครนอยด์ หรือพลับพลึงทะเล เปลือกหอยต่างๆ ฟิวซูลินิด หรือคตข้าวสาร เศษเปลือกหอยจำนวนมาก ซึ่งพบได้ทั่วไปในชั้นหินปูน มักโผล่มาเฉพาะด้านข้าง จึงทำให้เห็นเป็นเส้นเหมือนโดนผ่าออก ซึ่งมีทั้งหอยฝาเดียว หอยสองฝา และกลุ่มแบรคิโอพอด หรือหอยตะเกียง ทราบมาว่าทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า ยุคเพอร์เมียน (Permian) ที่คาดว่าน่าจะมีอายุประมาณ 250-270 ล้านปี ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดเตรียมพัฒนาพื้นที่วนอุทยานเขานางพันธุรัต จังหวัดเพชรบุรี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา เพื่อส่งเสริมด้านการศึกษา เรียนรู้ ทางธรณีวิทยา ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ นายภูเบศร์ สาขา นักธรณีวิทยาชำนาญการ กรมทรัพยากรธรณี กล่าวเสริมว่า แหล่งซากดึกดำบรรพ์เขานางพันธุรัต อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี พื้นที่วนอุทยานเขานางพันธุรัต เป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ ซึ่งกำเนิดขึ้นจากตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนตที่สะสมตัวในทะเลโบราณเมื่อประมาณ 270-250 ล้านปีก่อน เรียกว่ายุคเพอร์เมียน (Permian) สำหรับฟอสซิลปะการังมีทั้งปะการังเป็นกลุ่มก้อนและแบบเป็นตัวเดี่ยวๆ มักพบฟอสซิลโผล่มาเฉพาะหน้าตัดตามขวาง เป็นลักษณะแฉกรัศมีคล้ายช่อดอกไม้ บางชนิดเป็นกลุ่มก้อนที่มีก้านยาวคล้ายกิ่งไม้ ขนาดไม่ใหญ่มาก บางชนิดพบเป็นตัวเดี่ยวๆ หากพบสมบูรณ์ทั้งตัวจะมีลักษณะเหมือนเขาสัตว์ จึงเรียกปะการังเขาสัตว์ (Rugose coral) ซึ่งจะเป็นกลุ่มปะการังที่สูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อ 250 ล้านปีก่อน