เชียงใหม่ - อธิบดีกรมควบคุมมลพิษนำคณะลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเครือข่ายชุมชน นักวิชาการ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาการตัดสินใจจัดการไฟในที่โล่งด้วยระบบ Fire-D ระดับจังหวัด และท้องถิ่น เพื่อพัฒนาขยายผลต่อยอดในพื้นที่ต่างๆ รับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ปีนี้น่าเป็นห่วง เร่งจับมือทุกภาคส่วนแก้ไข
วันนี้ (3 ก.พ. 66) ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมคณะมาประชุมเพื่อรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการพัฒนาระบบการตัดสินใจในการจัดการไฟในที่โล่ง ด้วยระบบ Fire-D ระดับจังหวัดและท้องถิ่น โดยมีนายเดโช ไชยทัพ สมาคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ พร้อมด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาองค์กรชุมชนและเครือข่ายระดับพื้นที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก่อนที่จะลงพื้นที่ไปที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จุดต้นแบบของการบริหารจัดการไฟป่าในกระบวนการต้นแบบเพื่อนำไปสู่การต่อยอดขยายผล
ทั้งนี้ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า สาเหตุของปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัย และมีความแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมและพื้นที่ ชุมชนเมือง เช่นกรุงเทพมหานครก็จะมีปัญหาเรื่องมลพิษจากการจราจร สภาพสังคมเมือง ขณะที่ต่างจังหวัดก็จะมีเรื่องของการจัดการเชื้อเพลิงภาคการเกษตร การเผาในที่โล่งและพื้นที่ป่า เช่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือเวลานี้ โดยยอมรับว่าปีนี้สถานการณ์ค่อนข้างน่ากังวล จากบริบทปัจจัยในด้านต่างๆ ทั้งอากาศหนาวนาน แห้งแล้ง การสะสมของปริมาณเชื้อเพลิง วิถีชีวิต ซึ่งก็เห็นได้ชัดเจนว่าปัญหาเหล่านี้ยังคงทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ล่าสุดมลพิษทางอากาศก็เกินค่ามาตรฐานสูงขึ้นต่อเนื่อง
โดยการลงพื้นที่เชียงใหม่วันนี้นอกจากแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบการตัดสินใจการจัดการไฟในที่โล่งด้วยระบบ Fire-D แล้ว ยังจะได้ประสบการณ์ในด้านอื่นๆ เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาขยายผลต่อยอดในพื้นที่ต่างๆ โดยปัจจุบันหลายหน่วยงานได้มีการบูรณาการความร่วมมือเพื่อป้องกันแก้ไข ลดปัญหาและบรรเทาผลกระทบ สร้างความตระหนักร่วมกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ด้านนายเดโชกล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชนในพื้นที่ได้มีการทำงานกันอย่างหนักภายใต้ภาวะปัจจัยที่เกิดขึ้น สิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญและท้าทายที่จะช่วยกันเวลานี้คือ อำนาจบริหารจัดการจากการถ่ายโอนภารกิจ ต้องมีฐานความรู้ ขยายผลความร่วมมือและงบประมาณสนับสนุนเพื่อบูรณาการตามเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ แต่การจัดการในแต่ละพื้นที่ก็มีความต่างกัน การได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยกันจะสามารถสร้างความร่วมมือแก้ไขได้ยั่งยืน
สำหรับการประชุมครั้งนี้แต่ละองค์กรได้มีการถ่ายทอดเพื่อการเรียนรู้แลกเปลี่ยนเรื่องของการบริหารจัดการไฟป่าของจังหวัด รวมทั้งหน่วยงานในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการกระจายอำนาจ สภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สสส. และเครือข่ายภาคประชาชนในนามของสมาคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ สภาองค์กรชุมชน ก่อนที่จะเดินทางเข้าพื้นที่เพื่อดูการบริหารจัดการไฟป่าของท้องถิ่นท้องที่และชุมชนที่บ้านเชิงดอย ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง พร้อมร่วมกันทำแนวกันไฟ การลดเชื้อเพลิงและการจัดการในจุดต้นแบบที่บ้านเชิงดอย ก่อนที่จะมีการสรุปเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป