ประจวบคีรีขันธ์ - สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ป่าพรุแม่รำพึง และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน จัดงานวันพื้นที่ชุมน้ำโลก “ป่าพรุแม่รำพึง” ซึ่งเป็นพื้นที่มีความสำคัญระดับประเทศ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักรู้ การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน
สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ป่าพรุแม่รำพึง เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาป่าพรุแม่รำพึงบางสะพานอย่างยั่งยืน ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถานศึกษา ร่วมกันจัดงานวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ประจำปี 2566 ซึ่งตรงกับวันที่ 2 ก.พ.ของทุกปี มีนายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเปิดงาน
วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกในปีนี้ที่ป่าพรุแม่รำพึง เพื่อกระตุ้นให้ประชาชน และเยาวชนได้ตระหนักรู้การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน เสริมสร้างพัฒนาองค์ความรู้ชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการแผนการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่ยังเหลืออยู่ และสามารถใช้เป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และสมุนไพรสำหรับบ้านเรือน อุตสาหกรรม และการเกษตร
นายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ป่าพรุแม่รำพึง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเพียงแห่งเดียวในอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ ด้วยความเป็นตัวแทนหรือมีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นพื้นที่พรุชายฝั่งที่ระบบน้ำได้รับอิทธิพลจากทะเล จึงมีระบบน้ำกร่อยและน้ำจืดที่มีบทบาทสูงการเก็บกักน้ำฝน และน้ำท่ารวมทั้งการป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าแผ่นดิน สังคมพืชป่าพรุที่วนอุทยานแม่รำพึง เกิดในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งในบริเวณที่ลึกเข้ามาจากป่าชายเลน สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำใกล้เคียงกับระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพดินเป็นดินเลนและเค็ม สังคมพืชตามธรรมชาติที่ปรากฏให้เห็นมีความสำคัญคล้ายคลึงกับป่าพรุแถบจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยโครงสร้างป่าส่วนใหญ่ประกอบด้วยเสม็ดขาว เป็นไม้เด่น
ซึ่งในปีนี้มีการจัดเวทีเสวนา "เรื่องการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าพรุแม่รำพึงเพื่อสร้างความมั่นคงทางแหล่งอาหาร" โดยมีนายวิฑรูย์ บัวโรย ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าพุแม่รำพึง นายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 7 เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาป่าพรุแม่รำพึงบางสะพานอย่างยั่งยืน ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลง อุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมพูดคุยถึงการอนุรักษ์ป่าพรุแม่รำพึง ที่ผ่านมาถึง 14 ปีเต็ม ซึ่งมีความหลากหลายทางระบบนิเวศวิทยา มีทั้งพันธุ์ไม้ ทั้งต้นเสม็ดขาวเป็นพืชเด่นซึ่งอยู่ชั้นนอก ส่วนตรงกางเป็นป่าโกงกาง และอีกส่วนเป็นต้นกระจูด ต้นจาก และพันธุ์ไม้อีกจำนวนมาก โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. และสถานศึกษาร่วมกิจกรรม
ซึ่งในอนาคตจะมีการวางแผนบูรณาการร่วมกันจัดทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ มีหอดูนกและจุดชมวิว ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ของสถานศึกษาต่อไป ตลอดจนจะทำให้ชาวบ้านในชุมชนและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนป่าพรุแม่รำพึง มีรายได้จากการเลี้ยงผึ้งสร้างรายได้สู่ครัวเรือน ทำผลิตภัณฑ์ซึ่งใช้วัตถุดิบจากป่าพรุแม่รำพึง ทั้งการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากใบของต้นเสม็ดขาว การนำใบจากมาทำขนม รวมทั้งผลผลิตลูกจาก แต่ทั้งหมดต้องมีการเขียนแผนและนำไปสู่การตัดสินใจของคณะกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีหลายภาคส่วน
โดยในปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ เดิมมีสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดลดล้อมรับผิดชอบ ปัจจุบันได้มีการถ่ายโอนให้กรมทรัพยากรน้ำรับผิดชอบแล้วในปัจจุบัน ซึ่งป่าพรุแม่รำพึง คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศขึ้นทะเบียนป่าพรุแม่รำพึงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 มีเนื้อที่ประมาณ 1,870 ไร่ ทีพรรณไม้ทั้งหมด 194 ชนิด พบสัตว์ป่า 65 ชนิด ปลา 29 ชนิด
อย่างไรก็ตาม นายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้จัดทำแผนส่วนหนึ่งให้พื้นที่ชุ่มน้ำป่าพรุแม่รำพึงเป็นป่าครอบครัวเป็นศูนย์อนุรักษ์และเรียนรู้ต่อไป ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคมนี้
นอกจากการเสวนาแล้ว ยังจัดกิจกรรมให้เยาวชนจากสถานศึกษา 3 แห่งในพื้นที่ใกล้ป้าพรุแม่รำพึง มาร่วมกิจกรรมและร่วมกันระบายสีลงทั้งในแผ่นกระดาษ ตลอดจนบริเวณโอ่งใส่น้ำในป่าพรุแม่รำพึง โดยเยาวชนที่เข้าร่วมวาภาพระบายสีได้แสดงความคิดผ่านปลายพู่กันให้เห็นถึงความหลากหลายของพื้นที่ป่าพรุแม่รำพึง ทั้งต้นไม้ พืชและสัตว์น้ำต่างๆ โดยเยาวชนสถานศึกษาต่างๆ อยากเห็นการพัฒนา การดูแลและอนุรักษ์พื้นที่ป่าพรุแม่รำพึง เพื่อให้ป่าพรุแม่รำพึงเป็นผืนป่าที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศวิทยาที่สำคัญอีกแห่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ต่อไป