กาฬสินธุ์ - เกษตรกรเมืองน้ำดำหันมาเลี้ยงควายพันธุ์พื้นเมืองมากขึ้น จากเดิมราคาตัวละไม่กี่หมื่นบาทขยับขึ้นหลักแสนบาท เจ้าของ “เบิ้มพันล้าน” ควายพ่อพันธุ์มูลค่า 30 ล้าน เผยผลิตน้ำเชื้อขายรายได้สูงถึงเดือนละ 1 ล้านบาท ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงควายรุ่นใหม่ระบุเลี้ยงควายไม่ได้เลี้ยงตามกระแส แต่เลี้ยงเพื่อใช้งานแทนจ้างรถไถนา แถมยังได้มูลเป็นปุ๋ยคอกบำรุงข้าวและพืชทดแทนปุ๋ยเคมีที่ราคาสูง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงฤดูแล้งพบว่านอกจากจะทำการเกษตร ปลูกพืชอายุสั้นที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศและปริมาณน้ำแล้ว ยังมีการเลี้ยง “ควายพื้นเมือง” และ “ควายงาม” กันมากขึ้น ช่วยฟื้นฟูตลาดควายที่ซบเซามานานให้คึกคักอีกครั้ง ที่น่าสนใจได้เกิดธุรกิจขายน้ำเชื้อควายงามหรือควายพันธุ์ดี หลายสายพันธุ์ เพื่อสนองความต้องการของเกษตรกรเป็นจำนวนมากเช่นกัน
นายมงคล มองเพ็ชร นายกเทศมนตรีตำบลคำบง อ.ห้วยผึ้ง เจ้าของ “เบิ้มพันล้าน” ควายงามมูลค่าร่วม 30 ล้านบาท เล่าว่า ตนเกิดมาก็เห็นพ่อแม่ญาติพี่น้องเลี้ยงควายเพื่อใช้แรงงาน และแบ่งขายเป็นทุนการศึกษาให้ลูกหลาน ผลดีของการเลี้ยงควายอีกอย่างหนึ่งคือได้ปุ๋ยคอกบำรุงข้าวและพืชสวนพืชไร่ ระยะหลังอาจจะเห็นว่าจำนวนควายลดลง ชาวบ้านไม่นิยมเลี้ยงควายมากเหมือนสมัยก่อน ซึ่งเป็นไปตามยุคสมัย ควายถูกส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์ ถูกแปรรูปเป็นอาหาร เกษตรกรใช้รถไถแทนแรงงานควาย ซึ่งรวดเร็ว สะดวกสบายกว่า และมีการใช้ปุ๋ยเคมีแทนปุ๋ยคอก เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของพืช ประชากรควายจึงลดตามลำดับ
สำหรับตนมีความผูกพันกับควายมาก ทั้งรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณควายด้วยซ้ำ ชีวิตตนมาถึงวันนี้ได้เพราะเลี้ยงควาย ควายเป็นสัตว์ที่เชื่อง เลี้ยงง่าย ร่างกายแข็งแรง อดทน มีภูมิต้านทานโรคสูงกว่าวัว ดังนั้นครอบครัวตนจึงเลี้ยงควายมาโดยตลอด ขณะที่ภาวะค่าครองชีพสูงขึ้น น้ำมันแพง ราคาปุ๋ยสูงขึ้น พบว่าเกษตรกรรายย่อย รายใหญ่เริ่มหันมาหาวิธีการลดต้นทุนการผลิต
ซึ่งการเลี้ยงควายก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพื่อใช้แรงงาน และได้ปุ๋ยคอก สำหรับตนมีควายที่เลี้ยง 20 ตัว เน้นควายงาม ซึ่งจะมีมูลค่าสูงกว่าควายพื้นเมืองทั่วไป
โดยมี “เบิ้มพันล้าน” ควายพันธุ์ไทยแท้ เป็นพระเอกในฟาร์ม ซื้อมาเมื่อ 6 ปีที่แล้วราคา 5 แสนบาท ขณะที่ราคาควายงามโดยทั่วไปราคาตัวละ 40,000-50,000 บาท ตนได้เลี้ยงเบิ้มพันล้านเพื่อผลิตน้ำเชื้อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรผู้สนใจ และเพื่อกระจายพันธุกรรมควายไทยให้มีลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง
อย่างไรก็ตาม หลังจากในพื้นที่กาฬสินธุ์ ได้จัดประกวดควายงามขึ้น 2-3 ครั้ง ช่วยทำให้วงการตลาดควายไทยฟื้นตัว ส่งผลให้ช่วงนี้ตนมีรายได้จากการขายน้ำเชื้อของเบิ้มพันล้านเดือนละประมาณ 1 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าในตัวเบิ้มพันล้าน ประเมินไว้ในราคา 30 ล้านบาท
“วงการเลี้ยงควายงามหรือควายพื้นเมืองใน จ.กาฬสินธุ์ตื่นตัวมากถึงขั้นได้รวมตัวจัดตั้งกลุ่มคนเลี้ยงควายลุ่มน้ำปาว มีสมาชิก 350 ราย ประชากรควายราว 10,000 ตัว” นายมงคลกล่าว
ด้านนายพร้อมพงศ์ พิมเภา อายุ 36 ปี บ้านแสนสุข เขตเทศบาลตำบลกุดสิม อ.เขาวง กล่าวว่า ตนประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีทำนา ปลูกพืชสวน พืชไร่ ต้นทุนการทำเกษตรเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทั้งค่ารถไถ ราคาปุ๋ยเคมีตามท้องตลาดที่สูงขึ้น จึงมองหาวิธีลดทุนทำการเกษตร โดยหันมาเลี้ยงควาย ไมได้เลี้ยงตามกระแส แต่เลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อใช้แรงงาน นอกจากนี้ยังได้ปุ๋ยคอกบำรุงข้าวและแปลงเกษตร ซึ่งเป็นการฟื้นฟูวิถีชาวนาไทยอีสานอีกด้วย จึงไปขอซื้อควายเพศเมียจากโรงฆ่าสัตว์มา 1 ตัวราคา 2 หมื่นบาท ตนตั้งชื่อให้ว่า “บุญรอด” ใช้เวลาขุน 2 ปีครึ่ง ก็ได้อายุผสมพันธุ์ โดยซื้อน้ำเชื้อเจ้าเบิ้มพันล้านมาผสมเทียม
นายพร้อมพงศ์เล่าว่า ช่วงที่บุญรอดตั้งท้อง รูปร่างผิวพรรณเปล่งปลั่งสวยงามมาก ถึงขนาดมีนายฮ้อยมาติดต่อขอซื้อทั้งแม่และลูกในท้องราคา 2 แสนบาท ตนก็ไม่ขาย และหลังจากบุญรอดตกลูกออกมา เป็นเพศผู้ชื่อ “เพชรภูไท” รูปพรรณสวยงามเหมือนพ่อ “เบิ้มพันล้าน” มาก ขณะนี้มีอายุ 2 เดือน มีนายฮ้อยมาให้ราคาทั้งแม่ลูก 5 แสนแล้ว ตนก็ไม่ขาย เพราะตั้งใจจะเลี้ยงไว้ใช้แรงงาน เอาปุ๋ยคอกบำรุงข้าวและพืช นอกจากนี้ยังตั้งใจที่จะเลี้ยงเพชรภูไทเป็นพ่อพันธุ์อีกด้วย