เชียงราย - “ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง” เร่งเตรียมพร้อมรับเป็นเจ้าภาพประชุมฯ เอเชีย-แปซิฟิก จังหวะเดียวกับจีนเปิดประเทศ หวังฟื้นการบินเชียงรายคึกคัก-เที่ยวบิน ตปท.เข้า
นาวาอากาศตรี สมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เปิดเผยว่า องค์การการบินพลเรือนระว่างประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ICAO APAC) ได้กำหนดให้เชียงรายเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Asia/Pacific Aerodrome Design and Operations Task Force ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 10-13 ม.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ ณ หอปรัชญารัชกาลที่ ๙ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ซึ่งจะมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกจำนวน 13 ประเทศ ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ออสตรเลีย สหรัฐอเมริกา ฯลฯ รวมจำนวน 82 คน เข้าร่วมทบทวนและหารือเรื่องมาตรฐาน ข้อปฏิบัติ การออกแบบ การจัดการ การก่อสร้าง ฯลฯ ของแต่ละท่าอากาศยานเพื่อร่วมกันพัฒนา และหากที่ใดมีปัญหาสามารถทำเรื่องเพื่อขอผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือได้
นาวาอากาศตรี สมชนกกล่าวว่า การจัดประชุมดังกล่าวถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยและ จ.เชียงราย อย่างมากเพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยว่ามีผู้ที่มีความรู้ความสามารถและสถานที่ก็สามารถจัดการประชุมนานาชาติได้ด้วย
ขณะที่การบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลก ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ก็ถือว่าได้มาตรฐาน 1 ใน 6 สนามบินของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ส่วนตนเองก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะทำงาน Asia/Pacific Aerodrome Design and Operations Task Force มาแล้ว 2 สมัย สมัยละ 2 ปี และมีแนวโน้มว่าจะได้ทำหน้าที่ต่อไปอีกจนถึงปี 2567 ด้วย
นอกจากนี้ การประชุมดังกล่าวยังจะมีขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศจีนจะมีการผ่อนปรนการเดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2566 เป็นต้นไปด้วย ดังนั้นจึงถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับความคึกคักในการบินได้อีกทางหนึ่ง
ผู้อำนวยการการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงได้ปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่องห้วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 เพราะเล็งเห็นความคึกคึกหลังวิกฤตผ่อนคลายลง โดยมีการพัฒนาถนน และกำลังสร้างทางคู่ขนานรันเวย์ กำหนดแล้วเสร็จในปี 2566 เช่นกัน ย้ายห้องพักวีไอพีไปสร้างใหม่เพื่อลดความแออัด ฯลฯ รวมทั้งพัฒนาอาคารที่พักผู้โดยสารให้รองรับได้ถึง 7,000-10,000 คนแล้ว
สำหรับปี 2565 นี้ จนถึงเดือน ธ.ค. มีผู้โดยสารไปใช้บริการเฉลี่ยวันละ 6,000-7,000 คน มีเที่ยวบินวันละกว่า 44 เที่ยวบิน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 77% จากเดิมในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่มีสูงสุดเพียง 1,200 คน แต่ยังไม่มีการบินระหว่างประเทศ โดยเครื่องบินที่มาจากต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องบินไพรเวตเจ็ตส่วนตัว
ดังนั้น คาดว่าหลังการประชุมจะมีการสรุปเนื้อหาและร่วมกันพัฒนาการบินร่วมกัน และจะมีสายการบินต่างๆ โดยเฉพาะจากประเทศจีน เกาหลีใต้ ฯลฯ ติดต่อเพื่อขอบินตรงลงท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ต่อไป การประชุมยังทำให้ผู้แทนจากประเทศต่างๆ ได้มีโอกาสชมสถานที่ท่องเที่ยวใน จ.เชียงราย และมีกำหนดการชมการแสดงทางวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นซึ่งจะทำให้เกิดผลดีต่อการท่องเที่ยวอีกด้วย