กาญจนบุรี - หัวหน้าหน่วยควบคุมพื้นที่ เผยหากประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ ประมาณ 70,000 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดกาญจนบุรี หากสำเร็จจะเกิดประโยชน์มหาศาล
วันนี้ (20 ธ.ค.) นายประวุธ เปรมปรีดิ์ หัวหน้าหน่วยควบคุมพื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า พื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ มีเนื้อที่ 116.60 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 72,877 ไร่ อยู่ในเขตการปกครองท้องที่ตำบลด่านแม่แฉลบ ตำบลนาสวน ตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี สภาพเป็นพื้นที่ป่าไม้และภูเขา ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ กองพลทหารราบที่ 9 กองทัพบก เป็นผู้ดูแลและใช้ประโยชน์
ต่อมา กองทัพบกได้ยินยอมให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสงวนฯ ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยกันพื้นที่อาศัย ที่ทำกิน ถนน วัด โรงเรียน และสถานที่ราชการต่างๆ ออก
โดยทิศเหนือ จดพื้นที่ราชพัสดุ แปลง กจ.209 ทิศตะวันออก จดพื้นที่ราชพัสดุ แปลง กจ.209 ทิศใต้ จดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลลักพระ และทิศตะวันตก จดอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์
วัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ บริเวณพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ เพื่อรองรับการกระจายและการอพยพเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างป่า และเสือโคร่ง จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และป่าอนุรักษ์แห่งอื่นๆ เพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารของอำเภอศรีสวัสดิ์ ให้เป็นพื้นที่รับน้ำ และผลิตน้ำที่สำคัญของเขื่อนศรีนครินทร์ และ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดกาญจนบุรี
จุดเด่น คุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ พื้นที่ป่าไม้และภูเขา บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ เป็นพื้นที่ที่สำคัญเชิงนิเวศ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งต่อประชาชน ในพื้นที่ลุ่มน้ำแควใหญ่ และลุ่มน้ำแม่กลอง เป็นพื้นที่รองรับการเคลื่อนย้าย และการกระจายของสัตว์ป่าจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ สู่ป่าใหญ่
ด้านเหนือ เกิดการเชื่อมต่อของระบบนิเวศอย่างสมบูรณ์ ส่งผลต่อคุณค่าด้านการอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง หากสามารถบริหารจัดการพื้นที่เชิงภูมินิเวศที่ส่งผลให้มนุษย์อยู่ร่วมกับป่าไม้ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม ในบริเวณนั้นจะเกิดผลดีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
หลักการและเหตุผล การประกาศพื้นที่คุ้มครองหรือพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทหนึ่งซึ่งพื้นที่ป่าไม้และภูเขาเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม ควรเก็บรักษาไว้เป็นป่าต้นน้ำลำธาร และที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่า พื้นที่ป่าไม้และภูเขาในท้องที่อำเภอศรีสวัสดิ์ บริเวณที่ราษฎรไม่ได้ใช้ประโยชน์จึงเป็นพื้นที่ที่ควรดำเนินการประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น เขตห้ามล่าสัตว์ป่า
ประกอบกับพื้นที่บริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกที่ยังไม่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ทำให้เกิดช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมายด้านการอนุรักษ์ และการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์แบบกลุ่มป่า ผืนป่าทางด้านใต้ของกลุ่มป่าตะวันตก ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีสถานะเป็นเกาะ ขาดการเชื่อมต่อกับพื้นที่อนุรักษ์แห่งอื่นๆ
ดังนั้น หากดำเนินการประกาศพื้นที่ป่าไม้และภูเขาบริเวณเทือกเขาหงอนไก่ เทือกเขาขนุน เทือกเขาไหล่ตะกลอย เทือกเขาอ่างหินใน ท้องที่ ตำบลนาสวน ตำบลด่านแม่แฉลบ ตำบลเขาโจด เป็นพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าจะเกิดผลดีในการบริหารจัดการพื้นที่ และการบริหารจัดการสัตว์ป่าในอนาคต
ปัจจุบัน มีรายงานการพบเสือโคร่ง บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งได้รับการยืนยันจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ว่าเสือโคร่งตัวดังกล่าวเคยพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และยังมีรายงานการพบการกระจายของช้างป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เคลื่อนย้ายไปยังอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ โดยผ่านพื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์
ดังนั้น การอนุรักษ์และการคุ้มครองพื้นที่อยู่อาศัยของช้างป่าและเสือโคร่งไว้ได้ จะส่งผลโดยตรงต่อความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าและผืนป่าบริเวณนั้น เป็นสิ่งยืนยันถึงคุณค่าของผืนป่าแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี ในการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เพื่อเชื่อมต่อผืนป่าในกลุ่มป่าตะวันตกให้เป็นผืนเดียวกันสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าในอนาคต
นายประวุธ เปรมปรีดิ์ หัวหน้าหน่วยควบคุมพื้นที่เตรียมการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ กล่าวว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือ สามารถอนุรักษ์ความหลากหลายของ พันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ได้อย่างยั่งยืน สามารถเป็นแนวเชื่อมต่อป่า รองรับการเคลื่อนย้าย และการกระจายของสัตว์ป่าบริเวณกลุ่มป่าสลักพระ เขื่อนศรีนครินทร์ และเฉลิมรัตนโกสินทร์
สามารถมีพื้นที่รองรับน้ำ และผลิตน้ำเป็น เนื้อที่ 72,877 ไร่ สามารถประกาศพื้นที่อนุรักษ์ได้เพิ่มขึ้น จำนวน 72,877 ไร่ รองรับนโยบายด้านการอนุรักษ์ของประเทศ รองรับอนุสัญญาและข้อตกลงต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม กับนานาชาติ และเกิดการจ้างงานและการกระจายรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย