xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้ว่าฯ-สสปน.-TIEFA” แจงยิบสิทธิ์แข่งขัน “เลอแทป พิด’โลก” รับแผนจราจรพลาด พร้อมถอดบทเรียนจัดต่ออีก 2 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษณุโลก - ผู้ว่าฯ-สสปน.-TIEFA ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเสร็จงาน L'Etape Phitsanulok by Tour de France ประกาศพร้อมเป็นเจ้าภาพต่ออีก 2 ปี แจงยิบเรื่องลิขสิทธิ์-ปัญหารถติดค่อนเมือง พร้อมถอดบทเรียนวางผังเส้นทางแข่งขันใหม่แก้ระบบจราจร


วันนี้ (14 ธ.ค. 65) นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. นายบุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA) แถลงข่าวหลังจัดงานเลอเทปฯ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 65 ที่ผ่านมา

ผู้ว่าฯ พิษณุโลกกล่าวว่า พิษณุโลกได้เป็นเมืองเจ้าภาพเป็นครั้งแรก ประสบความสำเร็จด้วยดี สิ่งอำนวยสะดวก, ที่พัก, ความปลอดภัยที่มีการปิดถนน 100% ตามมาตรฐานสากล มีการแพทย์ดูแลฉุกเฉินพร้อมสรรพ ชุมชนมีส่วนร่วม ยกระดับให้พิษณุโลกสามารถดึงงานอื่นๆ เข้าสู่จังหวัดได้ในอนาคต และจะยังคงจัดต่ออีก 2 ปีข้างหน้า

นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวว่า ได้สนับสนุนค่าสิทธิ์การแข่งขันประมาณ 3 ล้านบาท ตามนโยบายใช้เทศกาลสร้างเศรษฐกิจ ทำงานร่วมกับจังหวัดต่างๆ ที่เป็นไมซ์ซิตี้ ซึ่งงาน L'Etape มีแฟนคลับในระดับประเทศและระดับนานาชาติจำนวนมาก ผู้เข้าร่วมงานมีความพึงพอใจ และมีการต้อนรับจากชาวเมือง, ชุมชนและหน่วยงานทุกภาคส่วนส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ คิดเป็นรายได้จากงานจำนวน 37.17 ล้านบาท

นายบุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TEFA) ผู้ได้รับการคัดเลือกจาก ASO ให้รับสิทธิ์เป็นผู้จัดการแข่งขัน L'Etape by Tour de France ในประเทศไทย กล่าวว่า สสปน.สนับสนุนค่าสิทธิ์เพื่อให้ ASO นำงานมาจัดในประเทศไทย ซึ่งปี 64 มีจังหวัดเสนอตัวและผ่านมาตรฐาน 2 เมือง คือพิษณุโลก และอุดรธานี โดยพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่ผ่านการคัดเลือกเป็นลำดับที่ 1 ได้รับการยืนยันสิทธิ์การเป็นเมืองเจ้าภาพจัดงาน 3 ปีต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่งจัดงานครั้งแรกไป และเชื่อว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีนักปั่นให้ความสนใจอีก

ช่วงท้ายหลังแถลงข่าวเสร็จได้เปิดให้สื่อมวลชนซักถาม ซึ่งมีการถามถึงลิขสิทธิ์และพันธะที่จังหวัดไปผูกพัน เนื่องจาก ภาคเอกชนสนใจเลอเทปไทยแลนด์ฯ จึงนำเรื่องเข้าที่ประชุมกรรมการกีฬาจังหวัดพิษณุโลก กระทั่งได้งบ 1.5 แสนบาทพร้อมทำ TOR เป็นส่วนหนึ่งเพื่อขอลิขสิทธิ์ให้จัดเลอแทปไทยแลนด์ฯ

ต่อมา 31 ม.ค. 65 ทาง สสปน.แจ้งว่า พิษณุโลกได้เป็นเจ้าภาพ โดย "มูฟเอเชีย" เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์เลอแทปไทยแลนด์ กระทั่ง 15 พ.ค. 65 หลายหน่วยงานของพิษณุโลกได้เดินทางไปรับธงสัญลักษณ์ที่ จ.พังงา มีภาพการรับธงเจ้าภาพเลอแทป ไทยแลนด์ แต่มีการวางป้ายข้อความ เลอแทป พิษณุโลก ไว้ในภาพ หลังจากนั้นจึงได้ใช้ชื่อ "เลอแทป-พิษณุโลก" มาเรื่อยๆ กระทั่งมีการจัดงานซึ่งส่งผลกระทบเรื่องการจราจร จนมีการสืบค้นหาผู้จัดงาน ซึ่งนายกไมซ์ชี้แจงสื่อว่า ตามเอกสารจาก TIEFA ลงวันที่ 18 พ.ค. 65 ยืนยันเป็นการจัดงานเลอแทป-พิษณุโลก

ถามว่าพันธะลิขสิทธิ์เลอแทปพิษณุโลก กับจังหวัดพิษณุโลกอยู่ตรงไหน คำถามก็คือ ใครใช้สิทธิ์และอำนาจในการตัดสินใจ ผูกพันต่อพันธะตามกฎหมายต่อจังหวัดพิษณุโลก และมีสัญญาเอกสารยืนยันจังหวัดพิษณุโลกยอมรับลิขสิทธิ์จาก TEFA หรือไม่

นายบุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ นายกสมาคม TEFA ตอบข้อซักถามว่า อันดับแรกเจ้าของสิทธิ์คือ ASO อันดับสองคือ TIEFA เป็นเจ้าของสิทธิ์ในประเทศไทยและเป็นผู้จัด อันดับสามคัดเลือกเมืองเจ้าภาพ แปลว่าเจ้าของสิทธิ์อยู่ที่ TIEFA โดยมี สสปน.สนับสนุน ฉะนั้นเราจึงมีพันธสิทธิ์กับเมืองเจ้าภาพ คือ พิษณุโลก จึงบรรจุชื่อพิษณุโลกไป แปลว่าเซ็นเอ็มโอยูทั้ง 3 หน่วยงาน คือ สสปน., ทีฟ่า และจังหวัด

ส่วนคำถามที่สองนั้นยังไม่ชัดแจน และขอชี้แจงต่อไปว่ามีเอกสารทุกอย่างเพื่อชี้แจง และนายกไมซ์ได้ชี้แจงก่อนหน้านี้ ทำตามระบบสากลอยู่แล้ว ซึ่งผู้สื่อข่าวยังขอร้องให้เปิดข้อมูลเอ็มโอยูทั้ง 3 หน่วยงานอีกด้วย

ต่อข้อถามถึงผลกระทบต่อการจราจร จากเส้นทางที่ใช้แข่งขันถูกปิดยาวไปและนานเกินไป ถูกโจมตีและระบายในสังคมโซเชียลฯ นายบุญเพิ่ม นายกทีฟ่า ตอบเพียงสั้นๆ ว่า ขอบคุณมากสำหรับคำเสนอแนะ และยินดีไปปรับปรุง

เมื่อถามถึงการใช้คำว่า เลอแทป-พิษณุโลก แทนคำว่า เลอแทป-ไทยแลนด์ เนื่องจากหวั่นเกรงจะมีปัญหาลุกฮือ และไม่พอใจเหมือนกับคนพังงาก่อนหน้านี้ว่า มีหลักฐานหรือข้อมูลใดนำไปเปลี่ยนชื่อดังกล่าว ส่วนปัญหาจราจรที่ติดขัด แต่ไม่มีใครอยากชี้แจงนั้น จะวางแผนอย่างไรและมีมาตรฐานอย่างไร เพราะได้สร้างผลกระทบ จึงนำไปสู่ที่มาของสื่อมวลชนค้นหา ที่มาที่ไปผู้จัดงานปั่นจักรยานครั้งนี้

นายบุญเพิ่มแจงว่า กรณีเลอแทป-พังงา ในอดีตนั้น ในความหมายของคำว่า ลุกฮือ นั้นไม่ใช่ประท้วง แต่ความหมายเป็นเพียงนัย ว่าเลอแทปไทยแลนด์ แล้วติดท้าย พังงา แต่พอลงข่าวไปถูกคนในพื้นที่แนะนำว่าถูกตัดคำว่า พังงา ไปทุกครั้ง เหลือแต่เลอแลปไทยแลนด์ จึงต้องเปลี่ยนแปลง

ส่วนปัญหาเรื่องจราจรนั้น เป็นประสบการณ์ปีแรก คิดว่าจะต้องปรับปรุง ซึ่งถือว่าเป็นจุดด้อยและจุดอ่อนที่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ ทำให้คนเข้าถึงน้อยเกินไป จะต้องปรับปรุงในอนาคต วันนี้ทราบแล้วว่าเกิดอะไร เป็นไปได้ที่เส้นทางปั่นไม่เหมือนทุกปี อนาคตอาจทำเหมือน จ.พังงา คือสตาร์ทจากจุดหนึ่ง ไปจบอีกจุดหนึ่ง ลดปัญหาจราจร


อย่างไรก็ตาม นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ตอบคำถามที่ว่า ขาดการประชาสัมพันธ์จราจรหากจะจัดงานใหญ่ของจังหวัดอีก และคำถามที่ว่า จะพัฒนารับมือเส้นทางปั่นจักรยานอย่างไรต่อไป ว่า เลอแทปครั้งที่ผ่านมานั้น ขอให้เป็นบทเรียน ยอมรับเรื่องของระบบจราจร ไม่ใช่ทางผู้จัดงานอย่างเดียว ยังมีทางตำรวจภูธรเป็นผู้ควบคุมระบบจราจรในเส้นทางหลักและรอง จะต้องมีการปรับเปลี่ยน

เนื่องจากช่วงเช้าหรือช่วงการปล่อยตัวจักรยาน จราจรคล่องตัวไม่มีปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นช่วงท้ายๆ ของการปั่นกลับเข้าตัวเมืองมา ทางจังหวัดฯ ได้พิจารณาถึงความสมดุลระหว่างเรื่องความปลอดภัยนักปั่นกับการจราจร ยอมรับว่าในส่วนการวางแผน คือพลาด ไม่รู้นักปั่นจักรยานนั้น ปั่นทิ้งช่วง ไม่ได้มาเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีนักปั่นเข้าท้ายๆ หมดแรง ทำให้ต้องปิดถนนเป็นเวลาพอสมควร แต่สิ่งเหล่านั้นจะต้องเป็นบทเรียนในการปรับจุดอ่อน ส่วนจังหวัดมีจุดแข็งใดจะต้องรู้

ผู้ว่าฯ พิษณุโลกย้ำว่า มีหลายวิธีต้องแก้ไข อันดับแรกง่ายๆ คือ จะต้องไม่ใช้ถนนเส้นทางขากลับเข้าเมืองอีกต่อไปแล้ว บังเอิญการจัดงานที่ผ่านมาคณะทำงานฯ ต้องการนำเสนอสัญลักษณ์ของเมือง ต้องการบอกจุดเด่นของเมือง ไฮไลต์ของเมือง คือ สะพานนเรศวร และพระราชวังจันทน์ เพียงต้องการความประทับใจ แต่กลับมีจุดอ่อนเรื่องระบบจราจร ถ้าแก้จราจรได้สำเร็จ การจัดงานเลอแทปฯ ครั้งต่อไปจะสมบูรณ์

“ต้องถามคนพิษณุโลกว่าจะยอมรับผลกระทบในส่วนนี้หรือไม่ เพราะจังหวัดฯ ไม่ได้จัดแข่งตลอดทั้งปี ปีหนึ่งจะจัดเพียงครั้งเดียว จะต้องถอดบทเรียนระบบจราจรต่อไป ไม่อยากเห็นการจราจรปิดตาย ไม่อยากบอกคนพิษณุโลกว่าเราจะปิดเมืองทั้งหมด ผมบอกเพียงว่าปิดตลาดนัดเสือลากหางเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้ปิดตลาดทั้งหมด เพราะเป็นเส้นทางนักปั่นจักรยานผ่าน อาจเกิดอุบัติเหตุจนเสียชื่อเสียงได้ แต่ครั้งต่อไปต้องเปลี่ยนเส้นทาง ไม่ต้องกลับเข้าเมืองอีก”
กำลังโหลดความคิดเห็น