xs
xsm
sm
md
lg

ร้านดังเชียงใหม่สร้างสรรค์เมนู “อั่วปูอ่อง” ชูวัตถุดิบท้องถิ่นยกระดับอาหารเหนือเทียบชั้นอินเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - ร้านอาหารพื้นเมืองเชียงใหม่สร้างสรรค์เมนูสุดล้ำ “อั่วปูอ่อง” ยกระดับอาหารเหนือเทียบชั้น “Kani Miso” หรือมันปูปรุงรสของญี่ปุ่น โดยผสมผสานจานเด็ดขึ้นชื่ออย่าง “อ่องปูนา” กับ “ไส้อั่ว” เข้ากันอย่างกลมกลืนด้วยสูตรเฉพาะตัว พร้อมชู “ปูนา” วัตถุดิบท้องถิ่นเป็นพระเอก


 ร้านอาหารพื้นเมืองเหนือชื่อดังอย่างร้าน “นงพรรณไส้อั่ว” ที่เปิดขายควบคู่ไปกับร้านยางรถยนต์ที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว ตั้งอยู่ถนนเชียงใหม่-ลำปาง ขาเข้าเมืองเชียงใหม่ ก่อนถึงไฟแดงสี่แยกข่วงสิงห์ ในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นต้นตำรับและมีชื่อเสียงจากเมนูเด็ด “ไส้อั่วเห็ดถอบ” ที่ทำออกขายปีละครั้งเฉพาะช่วงฤดูเห็ดถอบเท่านั้นต่อเนื่องมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ สร้างความฮือฮาน่าสนใจให้กับการสร้างสรรค์ยกระดับเมนูอาหารพื้นเมืองให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมส่งเสริมการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในการปรุงอาหารอีกครั้ง ด้วยการนำเมนูอาหารเหนือขึ้นชื่ออย่าง “อ่องปูนา” กับ “ไส้อั่ว” มาผสมผสานกันด้วยสูตรเฉพาะตัวที่คิดค้นขึ้นมาเอง จนกระทั่งออกมาเป็นเมนูแปลกใหม่ที่ทางร้านเรียกว่า “อั่วปูอ่อง”

ทั้งนี้ นางอนงพรรณ โฆษิตสกุลชัย อายุ 69 ปี เปิดเผยว่า หลังจากที่สิ้นสุดช่วงฤดูเห็ดถอบไปแล้ว เกิดแนวความคิดที่อยากจะพัฒนาสร้างสรรค์เมนูที่แปลกใหม่และตอกย้ำรสชาติความอร่อยของอาหารเหนือให้เป็นที่รู้จักขึ้นมาอีก โดยเล็งเห็นว่า “อ่องปูนา” ซึ่งใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นอย่างปูนาที่ชาวบ้านไปหามาได้ เป็นอีกเมนูหนึ่งที่น่าจะได้รับการยกระดับ ด้วยการนำมาประยุกต์ผสมผสานเข้ากับเมนูไส้อั่วอีกหนึ่งอาหารเหนือที่เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้วและเป็นเมนูขึ้นชื่อของทางร้าน จึงเริ่มต้นคิดค้นและปรับปรุงสูตรอาหารเมนูนี้นานกว่า 3 เดือน จนกระทั่งรสชาติอร่อยกลมกล่อมลงตัวและมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ที่ให้ความรู้สึกและรสสัมผัสแปลกใหม่ เหมือนกับรับประทาน “อ่องปูนา” กับ “ไส้อั่ว” ในคำเดียวกัน


สำหรับวัตถุดิบหลักของเมนูนี้นั้น ประกอบด้วย เนื้อปูนาและมันปูนา ที่รวบรวมรับซื้อมาจากชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อำเภอหางดง, อำเภอสันกำแพง และอำเภอแม่ริม เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนท้องถิ่น ซึ่งในส่วนของเนื้อปูนานั้นจะบดแล้วคั้นกรองเอากระดองปูออกไป จากนั้นนำมาผสมคลุกเคล้าจนเข้ากันเป็นเนื้อเดียวกันกับวัตถุดิบในการทำไส้อั่ว ทั้งเนื้อหมูและมันหมูบด รวมทั้งน้ำพริกและน้ำปรุงรสที่เป็นสูตรเฉพาะ พร้อมใบมะกรูดสับ, ต้นหอมสับ และผักชีสับ เพิ่มเติมด้วยอะโวคาโด 

เมื่อส่วนผสมทุกอย่างเข้ากันดีแล้ว จากนั้นนำไปหยอดใส่กระดองปูม้าจากทะเลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่รองด้วยใบเตยเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม แล้วเอาไปย่างไฟในเตาถ่านกะลามะพร้าว จนกระทั่งสุกหอมมันเยิ้มเป็นครีม และโรยหน้าด้วยไข่กุ้ง ดูคล้ายคานิมิโซะ (Kani Miso) หรือมันปูปรุงรสของญี่ปุ่น พร้อมรับประทานกับข้าวร้อนๆ ทั้งข้าวสวยหรือข้าวเหนียว

เมนู “อ่องปูนา” นั้น นางอนงพรรณ บอกว่า ทางร้านตั้งเตาย่างใหม่ๆ วางขายทั้งทางหน้าร้านในราคาชิ้นละ 70 บาท หรือ 3 ชิ้น ราคา 200 บาท และแพกสุญญากาศแช่เย็นพร้อมส่งให้ลูกค้าที่สั่งซื้อจากทั่วประเทศโดยคิดค่าส่งตามจริง พร้อมกับเมนูอื่นๆ ได้แก่ ไส้อั่วเห็ดหอมขาหมู, ไส้อั่วสูตรดั้งเดิม, ไส้อั่วปลาหมึก, ไส้อั่วสะตอ,ไส้อั่วสามเซียน (เห็ดสามอย่าง), ซี่โครงหมูย่าง, สันคอหมูย่าง, น้ำพริกหนุ่ม และน้ำพริกตาแดง ซึ่งลูกค้าที่สนใจสามารถดูรายละเอียดและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก “นงพรรณไส้อั่วย่าง” หรือ line id : nongphanfood


นอกจากนี้ นางอนงพรรณบอกด้วยว่า ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตัวเองและครอบครัวเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน โดยร้านขายยางรถยนต์ที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวประสบปัญหายอดขายตกต่ำอย่างมากจนรายรับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่ต้องเลี้ยงดูลูกน้องเป็นสิบชีวิตและต้องนำเงินเก็บมาใช้ประคับประคองธุรกิจ อย่างไรก็ตาม จากการที่ตัวเองเป็นคนชอบทำอาหารและทำขายเป็นธุรกิจเสริมกึ่งงานอดิเรกควบคู่กันมาอยู่แล้ว จึงได้ปรับเปลี่ยนให้ลูกจ้างร้านยางมาช่วยงานในส่วนของการทำอาหารแทนที่จะต้องเลิกจ้างไป 

จากการที่ตัวเองชอบประยุกต์สร้างสรรค์เมนูแปลกใหม่และใส่ใจการทำอาหารด้วยการคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพดี รวมทั้งพิถีพิถันทุกขั้นตอนเหมือนทำให้คนในครอบครัวกิน ทำให้ได้รับผลตอบรับอย่างดีจากลูกค้าจนฝ่าฟันช่วงวิกฤตมาได้ ซึ่งต้องขอบคุณลูกค้าทุกคนที่ให้การสนับสนุนและอยากเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤต โดยขอให้เชื่อมั่นในตัวเองว่าทุกคนมีจุดแข็งของตัวเองและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งต้องมีสติและอย่ายอมแพ้






















กำลังโหลดความคิดเห็น