ศูนย์ข่าวขอนแก่น - มิติใหม่การจัดงานเทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยวของจังหวัดขอนแก่น ปีนี้ได้หันมาชูความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมประเพณี ขายความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น “ขอนแก่นซอฟต์เพาเวอร์” โดยให้ทั้ง 26 อำเภอสร้างเฮือนอีสานย้อนยุคโชว์นักท่องเที่ยว พร้อมกับจำหน่ายผ้าไหมและสินค้าชุมชนขึ้นชื่อ
ค่ำวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ บริเวณเวทีวัฒนธรรม หน้าพระธาตุสิโรดม สนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายธาดา พรหมสาขา ณ สกลนคร รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น, นายชาญยุทธ วันดี พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น, นายพนม สิงห์สาย พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น, พล.ต.ต.นพเก้า โสมนัส ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ร่วมแถลงข่าวการจัดงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานขอนแก่นซอฟต์เพาเวอร์ ประจำปี 2565 ซึ่งกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-10 ธ.ค. 65 นี้
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงการจัดงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว งานกาชาดจังหวัดขอนแก่น และงานขอนแก่นซอฟต์เพาเวอร์ว่า ปีนี้ได้มีการปรับรูปแบบการจัดงานใหม่ โดยหันมาเน้นชูศิลปวัฒนธรรมความเป็นท้องถิ่นอีสานมาเป็นธีมหลัก มีการสร้างเฮือนอีสานโบราณที่ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมของคนอีสาน ให้นักท่องเที่ยวได้มาชม มาสัมผัส และถ่ายทอดรูปแบบศิลปวัฒนธรรมของคนอีสานผ่านอาหาร สินค้าขึ้นชื่อของดีประจำแต่ละอำเภอ ผ่านการเซลฟีผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ
ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้มอบหมายให้แต่ละอำเภอทั้ง 26 อำเภอได้ระดมช่างไม้สร้างเฮือนแบบโบราณอีสานที่มีมาหลายชั่วอายุคนจัดแสดงภายในพื้นที่จัดงาน รื้อฟื้น สืบสานศิลปวัฒนธรรมของคนอีสานที่มีมาแต่โบราณ แสดงถึงอัตลักษณ์และความงดงามของลายผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าทอ ประเพณีการผูกเสี่ยวแห่งแรกของภาคอีสานที่สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน
โดยเฉพาะการสร้างเฮือนหรือบ้านที่อยู่อาศัยของแต่ละอำเภอทั้ง 26 อำเภอในจังหวัดขอนแก่น นำเฮือนไม้เก่าที่มีอยู่ในพื้นที่มาดัดแปลงสร้างเป็นเฮือนบ้านไม้แบบโบราณ จัดแสดงในพื้นที่จัดงานเทศกาลไหมฯ ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น รวมเป็นหมู่บ้านชุมชนโบราณ เป็นการปลูกสร้างบ้านที่มีลักษณะการใช้สอยใกล้เคียงกัน รวมกันอยู่เหมือนคุ้ม ที่มีเฮือนรวมกันอยู่หลายๆ หลัง เป็นหมู่บ้านอยู่ในละแวกเดียวกัน เรียกว่า "เฮือนโบราณวิถีไทบ้านขอนแก่น"
นายไกรสรกล่าวอีกว่านอกจากนี้ ยังมีประเพณีที่ถือเป็นไฮไลท์และจัดต่อเนื่องควบคู่กับงานเทศกาลไหมคือ ประเพณี "ผูกเสี่ยว" ซึ่งคำว่า"เสี่ยว" หมายถึง มิตรแท้ เพื่อนแท้ ที่มีความผูกพันและจริงใจต่อกัน โดยการผูกเสี่ยวคือการนำบุคคล 2 คน ที่มีความผูกพันเป็นมิตรกันมาก่อนด้วยหลักเกณฑ์ในการเลือกคู่จะเลือกเพศเดียวกัน
นอกจากนี้ เสี่ยวที่มีลักษณะท่าทางรูปร่าง อายุ อารมณ์หรือบุคลิกภาพที่ใกล้เคียงกัน โดยมีหมอสู่ขวัญเป็นผู้ทำพิธี จากนั้นจะให้ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายผูกข้อมือเป็นคู่เสี่ยวพร้อมกับให้โอวาทและอวยพรให้ทั้งคู่เป็นเพื่อนรัก เพื่อนตาย ช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งสองครอบครัวและสังคมรอบข้าง เผยแพร่ชื่อเสียงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดขอนแก่นให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ และเพื่อหารายได้ให้กับเหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่น สำหรับนำไปช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อนและประสบสาธารณภัยต่างๆ ในแต่ละปี
ภายในงานยังมีกิจกรรมการแสดงแสง สี เสียง ประเพณีท้องถิ่น รวมถึงการจำหน่ายสินค้า OTOP สินค้าหัตถกรรมท้องถิ่น การจำหน่ายสินค้าราคาประหยัด การเลือกซื้อผ้าไหมนานาชาติ ที่จัดแสดงและจำหน่ายผ้าไหม ผลิตภัณฑ์ไหมของประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ คือ จีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า และไทย การแสดงผ้าไหมมัดหมี่ การแสดงผ้าไหมนานาชาติ ที่แสดงให้เห็นอัตลักษณ์ของประเทศนั้นๆ และเพื่อเป็นการพัฒนาการยกระดับผ้าไหมจังหวัดขอนแก่นปีนี้ให้เป็นงานที่จะก้าวสู่นานาชาติสู่ประชาคมเศรษฐกิจโลก ภายใต้ชื่อ งานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว งานกาชาดจังหวัดขอนแก่น และงานขอนแก่นซอฟต์เพาเวอร์ ประจำปี 2565
หลังจากการแถลงข่าวได้มีการรำของทั้ง 26 อำเภอ ซึ่งเป็นการซ้อมรำก่อนที่จะมีการรำบวงสรวงศาลหลักเมืองขอนแก่น ในวันที่ 28 พ.ย. 65 ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะมีนางรำจำนวนกว่า 30,000 คน มาร่วมรำบวงสรวงศาลหลักเมืองขอนแก่นครบรอบ 225 ปี การจัดตั้งจังหวัดขอนแก่น