xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิรักษ์ตับล่า 10,000 รายชื่อ ผลักดันคนไทยเข้าถึงยา-นวัตกรรมรักษาโรคมะเร็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - มูลนิธิรักษ์ตับเปิดตัวแคมเปญ “Voice for change - หนึ่งเสียง เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ” เชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อเพื่อผลักดันการเข้าถึงยา-นวัตกรรมรักษาโรคมะเร็งตับให้เข้าไปอยู่ในสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทย เผย "มะเร็งตับ" ภัยเงียบคร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดอันดับ 1 ในบรรดาโรคมะเร็งทั้งหมด ตั้งเป้าร่วมลงชื่อบน change.org 10,000 รายชื่อ


วันนี้ (22 พ.ย.) ที่ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 ตึกสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และประธานมูลนิธิรักษ์ตับ เป็นประธานเปิดตัวแคมเปญ Voice for Change : หนึ่งเสียง เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ เพื่อผลักดันการเข้าถึงยา นวัตกรรมสำหรับโรคมะเร็งตับให้เข้าไปอยู่ในสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทย มี รศ.นพ.โกสินทร์ วิระษร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขามะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยายในประเด็น “ความก้าวหน้าของการรักษาโรคมะเร็งตับ

รศ.นพ.โกสินทร์ วิระษร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขามะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งตับถือเป็นภัยคุกคามทางสุขภาพอันดับ 1 ของประเทศไทย ด้วยอุบัติการณ์สูงถึง 27,394 ราย และอัตราการเสียชีวิต 26,704 รายภายในปี พ.ศ. 2563 เพียงปีเดียว โดยยอดผู้ป่วยใหม่และเสียชีวิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยครอบครัวผู้ป่วย ผลิตภาพทางเศรษฐกิจ และระบบสาธารณสุขของประเทศ

มูลนิธิรักษ์ตับ ในฐานะกลุ่มผู้ป่วยโรคตับและมะเร็งตับ จึงจัดงานเปิดตัวแคมเปญ Voice for Change : หนึ่งเสียง เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ เพื่อผลักดันการเข้าถึงยา นวัตกรรมสำหรับโรคมะเร็งตับให้เข้าไปอยู่ในสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตที่ยาวนานขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเสียหายอันอาจเกิดจากทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ และช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีตัวเลือกมอบการรักษาที่ได้มาตรฐานสากลให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งตับในประเทศไทย

รศ.นพ.โกสินทร์กล่าวอีกว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคมะเร็งตับสูงที่สุดเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดต่างๆ ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพยังระบุว่าโรคมะเร็งตับที่พบในประเทศไทยมีอัตราส่วนอยู่ที่ 22.6 คนต่อประชากร 100,000 คน จัดว่าสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก มะเร็งตับพบได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุ 40-70 ปี ปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งตับ ได้แก่ ภาวะตับอักเสบเรื้อรัง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและโรคอ้วน การสูบบุหรี่ การบริโภคแอลกอฮอล์เกินปริมาณที่เหมาะสมซึ่งนำไปสู่โรคตับจากพิษสุราเรื้อรัง รวมถึงการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซิน

รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานมูลนิธิรักษ์ตับ
สำหรับชนิดของมะเร็งตับที่พบมากที่สุดในประเทศไทย คือมะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma - HCC) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90 โดยผู้ป่วยมักตรวจพบเมื่อโรคอยู่ในระยะลุกลามแล้ว เพราะภาวะตับอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีมักไม่แสดงอาการ ปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีแนวทางการรักษามะเร็งตับที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การปลูกถ่ายตับ การอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) การรักษาด้วยยาพุ่งเป้า (Targeted Therapy) และการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมะเร็งตับจำนวนไม่น้อยกลับไม่สามารถเข้าถึงยา นวัตกรรมการรักษามะเร็งตับที่มีผลวิจัยรับรองถึงประสิทธิภาพด้านการเพิ่มอัตรารอดชีวิตได้ เนื่องจากข้อจำกัดต้านสิทธิเบิกจ่ายการรักษาพยาบาลของคนไทยที่ยังไม่ครอบคลุม ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายโอกาสการเข้าถึงแก่ผู้ป่วยมะเร็งตับมากยิ่งขึ้น ผู้ป่วยอาจไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง สูญเสียความสามารถการทำงานและการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร


ด้าน รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานมูลนิธิรักษ์ตับ กล่าวว่า "มะเร็งตับถือเป็นภัยเงียบทางสุขภาพที่คุกคามชีวิตของคนไทยจำนวนมากอย่างต่อเนื่องมานับสิบปี เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น ทำให้กว่าผู้ป่วยจะเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา โรคมะเร็งตับมักดำเนินไปสู่ระยะลุกลามแล้ว ทุกวันนี้ ผู้ป่วยมะเร็งตับในประเทศไทยได้รับการรักษาแบบประดับประคอง ซึ่งช่วยยืดการมีชีวิตรอดออกไปเพียง 3-6 เดือนเท่านั้น


ดังนั้น การรับมือกับโรคมะเร็งตับ จึงเป็นความท้าทายของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในระบบดูแลสุขภาพของประเทศไทย ที่ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนสิทธิเบิกจ่ายยาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความรุนแรงของโรคและได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล แคมเปญ Voice for Change : หนึ่งเสียง เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ เล็งเห็นว่าเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนมีบทบาทผลักดันความเปลี่ยนแปลงต่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับได้

โดยร่วมลงชื่อ 10,000 รายชื่อ สนับสนุนแคมเปญเรียกร้องให้หน่วยงานที่พิจารณาสิทธิการรักษาพยาบาลของไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญของยานวัตกรรมที่มีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งตับ และบรรจุยาที่มีประสิทธิภาพตามหลักมาตรฐานสากลลงในรายการเบิกจ่าย


รศ.พญ.วัฒนากล่าวเสริมท้ายว่า ประชาชนสามารถร่วมลงชื่อได้ผ่านทางเว็บไซต์ change.org และแบบฟอร์มกระดาษ โดยแคมเปญมีเป้าหมายที่รวบรวมให้ได้ 10,000 รายชื่อ เพื่อนำไปประกอบจดหมายเปิดผนึกและยื่นต่อหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาสิทธิรักษาพยาบาลของคนไทย อันจะนำไปสู่โอกาสการเข้าถึงตัวเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย คลายความกังวลใจด้านต่างๆ ของผู้ดูแล ลดการสูญเสียทรัพยากรแรงงานของประเทศ และช่วยให้ระบบดูแลสุขภาพของประเทศไทยรับมือกับภัยคุกคามทางสุขภาพนี้ได้อย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น