xs
xsm
sm
md
lg

“แก้วสรร” โต้การเพิกถอนใบอนุญาต “บ้านคุ้มครองเด็ก 3” ไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ในกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสงคราม - “แก้วสรร” โต้การเพิกถอนใบอนุญาต “บ้านคุ้มครองเด็ก 3” ไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ในกฎหมาย และใช้อำนาจโดยไม่สุจริต เตรียมยื่นคำอุทธรณ์เพื่อให้พิจารณาทบทวนแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป

จากกรณีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 จังหวัดสมุทรสงครามได้ออกคำสั่งที่ 7518/2565 สั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ตั้งสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน “บ้านคุ้มครองเด็ก 3” (บ้านริมน้ำ) ของมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ลงนามโดยนายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ใจความสรุปว่า “ตามที่จังหวัดสมุทรสงครามได้อนุญาตให้มูลนิธิคุ้มครองเด็ก ตั้งอยู่เลขที่ 80/1 ซอยลาดพร้าว 106 ถนนลาดพร้าว แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง จังหวัดกรุงเทพมหานคร ดำเนินกิจการสถานสงเคราะห์ รับอุปการะเด็กชาย เด็กหญิง อายุระหว่าง 10-17 ปี จำนวนไม่เกิน 60 คน 
ในฐานะนิติบุคคล ใช้ชื่อว่า สถานสงเคราะห์เด็กเอกชน “บ้านคุ้มครองเด็ก 3” (บ้านริมน้ำ) ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ใบอนุญาตเลขที่ เมื่อ 30 มกราคม 2565 แต่ปรากฏว่ามูลนิธิคุ้มครองเด็ก ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน “บ้านคุ้มครองเด็ก 3” (บ้านริมน้ำ) รับเด็กอายุเกินกว่า 17 ปี จำนวน 3 ราย และเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี จำนวน 20 ราย เข้ารับการสงเคราะห์ โดยมีเด็กอายุต่ำสุด 1 ปี รวมทั้งมีเด็กพิการ 1 ราย เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบอนุญาตให้ตั้งสถานสงเคราะห์ ดังนั้น จึงอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ประกอบกับกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพและสถานพัฒนาและฟื้นฟู พ.ศ.2549 จึงเพิกถอนใบอนุญาตให้ตั้งสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน “บ้านคุ้มครองเด็ก 3” ที่ออกให้เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2565 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 นั้น

ล่าสุด วันนี้ (18 พ.ย.) เวลา 13.00 น. นายแก้วสรร อติโพธิ ประธานกรรมการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ได้แถลงต่อสื่อมวลชนที่มูลนิธิคุ้มครองเด็ก กรณีจังหวัดสมุทรสงคราม มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ว่า "การที่จังหวัดสมุทรสงครามสั่งเพิกถอนใบอนุญาตสถานสงเคราะห์ของมูลนิธิคุ้มครองเด็ก โดยอ้างว่ารับสงเคราะห์เด็กที่มีอายุผิดไปจากเงื่อนไขในใบอนุญาตนั้น ทางมูลนิธิฯ ได้สอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ในกฎหมาย เช่น ละเว้นไม่สอบถามรับฟังข้อมูลและเหตุผลจากผู้รับผิดชอบ ไม่ได้รับฟังคำชี้แจงกรณีของมูลนิธิฯ เพราะตามข้อ 1 ของกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาต ระบุทางเลือกในการแก้ไขปัญหาเป็นดุลพินิจไว้ถึง 3 ทางซึ่งท่านจะต้องรับฟังข้อมูลเหตุผลเสียก่อน แล้วจึงชั่งตรองใช้ดุลพินิจให้สมเหตุผล มิใช่ด่วนสั่งการไปตามอำเภอใจจนทำลายกิจการของมูลนิธิฯ และเด็กทั้งหมด โดยไม่พิจารณาถึงมาตรการแก้ไขอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย คำสั่งที่ท่านออกมาจึงเห็นว่ามิใช่การใช้ดุลพินิจ

นอกจากนี้ ยังเป็นการใช้อำนาจโดยไม่สุจริต เพราะในทางกฎหมายปกครองนั้นคำว่า "การใช้อำนาจโดยไม่สุจริต" หมายถึงการใช้อำนาจด้วยวัตถุนอกเหนือกฎหมายซึ่งผู้ร้องเชื่อว่าวัตถุประสงค์แท้จริงของท่านในการออกคำสั่งเพิกถอนนี้ หาได้อยู่ที่อายุของเด็กที่รับไว้แต่อย่างใด เหตุเพราะก่อนหน้านี้ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ถือคำสั่งควบคุมสถานสงเคราะห์เข้ามาในมูลนิธิฯ แทนที่จะเข้าควบคุมการบริหารจัดการในสถานสงเคราะห์ กลับใช้กำลังเข้าควบคุมตัวเด็กลากพาไปเพื่อให้พ้นสถานสงเคราะห์โดยพลการ ทั้งๆ ที่มิได้มีเหตุกักขังทำร้ายจนเด็กตกอยู่ในอันตรายแต่อย่างใด ทั้งที่ยังเหลือเด็กอยู่ในความปกครองของมูลนิธิฯ อีก 24 คน

ดังนั้น การใช้อำนาจตั้งแต่ออกคำสั่งเข้าควบคุมแล้วยกพวกมาควบกุมตัวเด็กไปแล้วออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต เพราะรับเด็กอายุไม่ตรงกับใบอนุญาต ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบตามอำเภอใจของท่านที่เป็นการใช้อำนาจผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะถ้าบุคลากรสถานสงเคราะห์กระทำไม่ถูกต้องจะสั่งตักเตือนก็ได้ สั่งให้เปลี่ยนตัวพักหน้าที่ก็ได้ หรือถึงขนาดเข้าควบคุมบริหารแทนก็ได้ ทางเลือกที่กล่าวมาทั้งหมดถูกท่านละทิ้งไป ซึ่งทุกขั้นตอนเท่าที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่สุจริต ไม่ตรงต่อวัตถุประสงค์ที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้ทั้งสิ้น

นายแก้วสรร กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ จึงขอยื่นคำอุทธรณ์เพื่อให้พิจารณาทบทวนแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป โดยจะถือคำอุทธรณ์นี้เป็นการสละสิทธิใดๆ ไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาทางอาญาต่อผู้เกี่ยวข้องในฐานความผิดต่อตำเหน่งหน้าที่หรือเป็นการเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการละเมิดก็ตาม ด้วยเหตุผลทั้งในปัญหาข้อเห็จจริง และข้อกฎหมายที่เรียนมาทั้งหมดข้างต้น มูลนิธิคุ้มครองเด็กจึงขอยื่นอุทธรณ์เพื่อเป็นการคัดค้านและได้แย้งคำสั่งของท่านตามกฎหมายปกครองและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับขอให้ท่านพิจารณาคำอุทธรณ์ฉบับนี้ และมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งจังหวัดสมุทรสงครามเลขที่ 3518 /2565 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ดังกล่าวเสีย และพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปคามบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมต่อไป

จากนั้น นายแก้วสรร ได้เดินทางไปศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม พบ นางลักษณา อิศรางกูร ณ อยุธยา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อขออุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตสถานสงเคราะห์ของมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ตามระเบียบทางราชการที่ต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายใน 15 วัน โดยนางลักษณา ระบุว่า จะเสนอตามขั้นตอนต่อไป ส่วนการศึกษาของเด็ก ทาง พม.ได้ให้ความสำคัญ โดยเด็กที่ พม.ดูแลได้ประสานโรงเรียนถาวรวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เด็กเรียนอยู่เดิมให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่เหมาะสมมาโดยตลอดแล้ว

สำหรับมูลนิธิคุ้มครองเด็ก หรือบ้านคุ้มครองเด็กหลังที่ 3 เปิดตัวโครงการเมื่อปี พ.ศ.2549 ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บนพื้นที่ 2 ไร่เศษ มีนายแก้วสรร อติโพธิ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อดีตเลขาธิการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นประธานกรรมการมูลนิธิ และมีนายมนตรี สินทวิชัย หรือครูยุ่น อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม เป็นเลขาธิการมูลนิธิ








กำลังโหลดความคิดเห็น