xs
xsm
sm
md
lg

มติบอร์ดคุ้มครองเด็กฯ ไม่ต่อใบอนุญาต"มูลนิธิบ้านครูยุ่น" ปล่อยสิ้นสภาพ ม.ค.66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยความคืบหน้าการคุ้มครองเด็กในมูลนิธิคุ้มครองเด็ก (บ้านครูยุ่น) อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ภายหลังมีข่าวเด็กโดนทำร้าย ว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดสมุทรสงคราม มีมติให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการนำเด็กที่เหลือกว่า 20 คน ออกมาอยู่ในความคุ้มครองสวัสดิภาพของกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 หลังจากที่ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ ได้นำเด็กออกมาแล้ว 29 คน

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดสมุทรสงคราม มีมติไม่ต่ออายุมูลนิธิคุ้มครองเด็กดังกล่าว เนื่องจากใบอนุญาตดำเนินการจะหมดอายุในเดือนมกราคม 2566 หลังจากนี้ต้องปล่อยให้สิ้นสภาพการเป็นสถานสงเคราะห์ที่ได้รับอนุญาต แต่หากมูลนิธิดังกล่าวยื่นขอต่ออายุใหม่ ก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดซึ่งจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา ทั้งด้านกาย จิต สังคม เช่น ด้านสุขอนามัยสาธารณสุข ด้านสถานที่สิ่งแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวก ด้านการศึกษาและพัฒนาการเด็ก รวมถึงมีสหวิชาชีพเข้าไปร่วมพิจารณา เป็นคณะกรรมการระดับพื้นที่ประเมินก่อนจะเสนอขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เท่าที่ประเมินสภาพแวดล้อมสุขอนามัยในมูลนิธิฯ ดังกล่าวหลังจากที่ลงพื้นที่ เห็นว่าต้องมีการปรับปรุงยกใหญ่พอสมควร

ส่วนกรณีที่นายมนตรี สินทวิชัย หรือ ครูยุ่น เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จะมีผลต่อการขอต่อใบอนุญาตหรือไม่นั้น ต้องดูเกณฑ์คุณสมบัติเงื่อนไขการขอนุญาตดำเนินการของสถานสงเคราะห์เอกชน กรณีเป็นผู้จัดตั้งหรือเจ้าของว่ามีการกำหนดเป็นเงื่อนไขอย่างไรหรือไม่ แต่หากผู้ถูกกล่าวหาเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเด็ก ถือว่าหมดสภาพการเป็นเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเป็นความเสี่ยงต่อเด็ก

ขณะที่ความเหมาะสมในการลงโทษเด็กและการให้เด็กทำงาน นายอนุกูล กล่าวว่า ไม่ว่าจะลงโทษด้วยการตีแบบไหน เป็นสิ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เพราะไม่ใช่เพียงบาดแผลทางกาย แต่ยังมีเรื่องสภาพจิตใจเด็ก ส่วนการทำงานเพื่อหารายได้เสริมในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่สามารถทำได้ กรณีเด็กอายุมากกว่า 15 ปี หากไปช่วยงานฝึกการทำงาน มีค่าตอบแทน ก็ต้องดูที่เจตนาด้วย