บุรีรัมย์ - กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตสุราแช่พื้นเมือง หรือสาโท จ.บุรีรัมย์ เหลืออยู่เพียง 2 ราย จากที่เคยจดทะเบียนขออนุญาตผลิตกว่า 100 ราย วอนรัฐบาลพิจารณาปรับลดภาษีและเงื่อนไขการขออนุญาต การดำเนินการต่างๆ ลง พร้อมเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างจริงจังให้สามารถประกอบอาชีพ สร้างรายได้ในชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง
วันนี้ (16 พ.ย.) นางปภาดา วิกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอมราสาโททองหลาง สุราแช่พื้นเมือง แบรนด์ “อมราสาโท” ตั้งอยู่ ต.ทองหลาง อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่างกฎกระทรวงการอนุญาต ผลิตสุราทั้งระบบใหม่ ได้พิจารณาปรับลดขั้นตอนการขออนุญาต ลดภาษี และเงื่อนไขในการดำเนินการต่างๆ ลงจากเดิม
พร้อมทั้งให้กลับมาสนับสนุนส่งเสริมภูมิปัญญาชาวบ้าน กลุ่มผู้ผลิตสินค้าโอทอปหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งสามารถสร้างงานสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่โดยเฉพาะสุราแช่หรือสาโทที่ใช้วัตถุดิบหลักคือข้าวสารเหนียว ทางกลุ่มผู้ผลิตจะรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในพื้นที่โดยตรงในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด โดยเฉพาะช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำก็เป็นการช่วยเหลือชาวนาในอีกทางหนึ่งด้วย
จึงอยากฝากให้รัฐบาลได้สนับสนุนส่งเสริมกลุ่มผู้ผลิตสุราชุมชนให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการตลาดปัจจุบันไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือเลย ต่างจากช่วงแรกๆ จะมีทางพัฒนาชุมชน (พช.) เข้ามาช่วยหาตลาดด้วยการให้กลุ่มผู้ผลิตไปออกบูทจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ ทำให้มีช่องทางการจำหน่ายที่กว้างขึ้น แต่พอไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาสนับสนุนส่งเสริม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตลาด ความรู้ในการผลิต รวมถึงเงื่อนไขและการจัดเก็บภาษีที่ค่อนข้างมาก ทำให้ชาวบ้านที่เคยรวมกลุ่มจดทะเบียนขออนุญาตผลิตสุราแช่พื้นเมือง และสุรากลั่นชุมชนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่มีมากกว่า 100 ราย ต้องทยอยปิดตัวลงเพราะสู้ต่อไม่ไหว ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 2 รายเท่านั้น
ดังนั้น หากมีการร่างกฎกระทรวงใหม่ ก็อยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มองถึงชาวบ้านระดับรากหญ้าที่มีภูมิปัญญาอยู่แล้ว ให้สามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้ในชุมชนอย่างเข้มแข็งด้วย แต่หากกฎกระทรวงหรือกฎหมายฉบับใหม่ในการอนุญาตผลิตสุรายังคงมีเงื่อนไขขั้นตอนที่ยุ่งยาก และการจัดเก็บภาษี รวมถึงทุนจดทะเบียนที่มาก ชาวบ้านระดับรากหญ้าก็คงเข้าไม่ถึง ที่สำคัญคงไม่มีทุนที่จะสู้ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้